ปรัชญาวิทยาศาสตร์
เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
6/18/2554
10/02/2553
My Thesis_การพัฒนาชุดทดลองการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์โดยใช้คอมพิวเตอร์เชื่อมต่อและจำลองแบบ
ผลจากระบบคัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัยด้วยคะแนนสอบ O –net และ A – net หรือระบบแอดมิชชั่น ทำให้คุณภาพของนิสิตนักศึกษาทุกสาขาที่มีการเรียนวิชาฟิสิกส์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดูได้จากคะแนนการเรียนที่ลดลง จำนวนนักเรียนที่สอบไม่ผ่านเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อัตราการถอนรายวิชาและอัตราการพ้นสภาพนิสิตนักศึกษาสูงขึ้นเป็นเท่าตัว นิสิตหลายคนต้องลาออกเพื่อสอบใหม่ หลายคนจบปี 1 แต่ยังไม่ผ่านวิชาพื้นฐานฟิสิกส์ ทั้งที่อาจารย์ผู้สอนยังใช้เนื้อหาและวิธีการสอนคงเดิม ข้อสอบวัดวัตถุประสงค์การเรียนรู้เป็นแบบเดียวกัน และที่สำคัญยังพบว่านิสิตเกือบทั้งหมดมีเกรดเฉลี่ยในระดับมัธยมสูงกว่า 3.00 ทั้งสิ้น (ผู้จัดการออนไลน์, 2551) ฉะนั้นปัญหานี้จึงตกมาสู่การจัดการเรียนวิชาฟิสิกส์ในระดับมัธยมศึกษา ทำไมเกรดจึงไม่แสดงถึงความสามารถที่แท้จริงของนักเรียน โดยมีนักเรียนและครูเป็นผู้ต้องสงสัย กล่าวคือ นักเรียนขาดความสนใจเรียนวิชาฟิสิกส์ มีความรู้พื้นฐานไม่ดีพอ ใช้คณิตศาสตร์ไม่คล่อง แก้สมการไม่ได้ มีการแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์น้อย เรียนตามไม่ทัน สุดท้ายก็ไม่ชอบเรียนวิชาฟิสิกส์ ประกอบกับระบบการวัดผลการเรียนเอื้อต่อการทำให้นักเรียนไม่สนใจเรียน นักเรียนไม่กลัวการสอบตก เพราะมีคะแนนเก็บระหว่างภาคมาก หากทำกิจกรรมตามที่ครูมอบหมายครบก็ไม่ติดศูนย์ นักเรียนจึงขาดความมุ่งมั่นอดทนในการเรียน ไม่ให้ความสำคัญกับวิชาฟิสิกส์เหมือนก่อน ส่วนปัญหาของครูที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ครูฟิสิกส์มีชั่วโมงสอนมาก มีภาระงานสอนหนัก สอนหลายวิชา หลายระดับชั้น จำนวนนักเรียนต่อห้องมากเกินไป ขาดการส่งเสริมขวัญหรือกำลังใจ ถ้าให้มีงานสนับสนุนส่วนอื่นที่ใช่งานสอนเพิ่มขึ้นอีก ประสิทธิภาพงานสอนจะลดลง (สุมิตร สวนสุข, 2551) อีกทั้งการจัดกระบวนการเรียนการสอนในรายวิชาฟิสิกส์ของครูในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาจะเรียนในลักษณะที่ใช้ความจำเป็นหลัก ความเข้าใจเป็นรอง ทำให้ไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้พื้นฐานต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้ ไม่สามารถใช้จินตนาการคิดสิ่งใหม่ ๆ ไม่สามารถอธิบายเหตุการณ์ที่แตกต่างจากเรื่องที่เรียนและมีความเป็นไปได้ที่ครูและนักเรียนอาจเกิดความเข้าใจผิดในมโนคติ (Misconceptions) เกี่ยวกับเนื้อหาต่าง ๆ ในบทเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง น้ำหนัก มวล ระยะทาง การกระจัด อัตราเร็ว ความเร็ว ความเร่ง แรงโน้มถ่วง กฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน การเคลื่อนที่แบบต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับผลงานวิจัยต่างประเทศที่ทำการศึกษาความเข้าใจผิดในมโนคติเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ ยกตัวอย่างเช่น ของ Anne Prescott และ Michael Mitchelmore ในปีค.ศ. 2004 ได้ทำการวิจัย เรื่อง Student Misconceptions about Projectile Motion เป็นการศึกษาความเข้าใจผิดในมโนคติของนักเรียนเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาหญิงในโรงเรียนซิดนีย์ เกรด 12 ที่ไม่เคยเรียนคณิตศาสตร์ของการเคลื่อนที่มาก่อน และ เกรด 17 ที่ได้เรียนทั้งฟิสิกส์และคณิตศาสตร์มาแล้ว โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ พร้อมทั้งให้นักเรียนเขียนอธิบายหรือวาดรูปประกอบ ใช้เวลาประมาณ 15 – 20 นาที ผลการศึกษา พบว่า นักเรียนร้อยละ 71 เข้าใจผิดเกี่ยวกับการขว้างวัตถุจากหน้าผาสูงด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน ร้อยละ 85 นักเรียนไม่สามารถบอกความแตกต่างของการโยนวัตถุ สองชิ้น จากหน้าผาด้วยความเร็วค่าต่าง ๆ ร้อยละ 75 นักเรียนไม่สามารถอธิบายเกี่ยวกับความเร็วของลูกระเบิดที่ถูกโยนบนเครื่องบิน และ ร้อยละ 67 มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการขว้างวัตถุภายใต้แรงโน้มถ่วง (Anne Prescott and Michael Mitchelmore, 2004) ส่วนในปี ค.ศ. 2005 ได้ทำการศึกษา เรื่อง Teaching Projectile Motion to Eliminate Misconceptions เป็นการจัดการเรียนการสอนเพื่อขจัดความเข้าใจผิดในมโนคติเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ โดยจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ ผลการศึกษา พบว่านักเรียนมีความเข้าใจที่ถูกต้อง มีผลการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพขึ้น และทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าความเข้าใจผิดในมโนคติของนักเรียนเกิดจากความเข้าใจผิดของครูผู้สอน สำหรับในปี ค.ศ. 2006 ทำการศึกษาเรื่อง Teacher Misconceptions About Projectile Motion กลุ่มทดลองเป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่เรียนวิชาคณิตศาสตร์ของการเคลื่อนที่ภายใต้แรงโน้มถ่วงและโปรแกรมประยุกต์ของแคลคูลัสกับฟิสิกส์ ผลการศึกษาพบว่านักเรียนมีความเข้าใจถูกต้องขึ้น อีกทั้งก็พบว่า ครูเป็นผู้สร้างความเข้าใจผิดในมโนคติเรื่องการเคลื่อนที่ให้กับนักเรียน ทั้งนี้เพราะครูไม่เข้าใจว่ามันเป็นปัญหาที่ทำให้นักเรียนมีความเข้าใจผิด และในปี ค.ศ. 2009 ทำการศึกษา เรื่อง The Impact of Teacher Misconceptions About Projectile Motion On Student Learning ซึ่งเป็นการศึกษาผลกระทบจากความเข้าใจผิดในมโนคติของครูเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นครูผู้สอนนักเรียนที่มีประสบการณ์การสอน 10 – 20 ปีของโรงเรียนสตรีในซิดนีย์ จำนวน 2 โรงเรียน แต่ละโรงเรียนแยกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มทดลอง เป็นครูที่ได้รับการแนะนำให้จัดการเรียนรู้เพื่อขจัดความเข้าใจผิดในมโนคติเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ตามแผนการสอนที่ออกแบบโดยผู้วิจัยหลัก ใช้เวลา 40 นาที ส่วนกลุ่มควบคุมให้ครูจัดการเรียนการสอนแบบบรรยายไปตามเดิม หลังจากนั้นก็ใช้วิธีสัมภาษณ์ด้วยแบบทดสอบที่วัดความเข้าใจผิดซึ่งเป็นชุดเดียวกันที่ใช้ทดสอบกับนักเรียน ผลการศึกษาพบว่า สามารถลดความเข้าใจผิดในมโนคติเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ในครูกลุ่มทดลองได้ แต่ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการอธิบายนักเรียนให้เข้าใจเกี่ยวกับความเร็วที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งในแนวระดับและแนวดิ่งของวัตถุ ส่วนครูกลุ่มควบคุมจะมีปัญหามากทั้งความเข้าใจผิดในมโนคติของตนเองและความไม่เข้าใจว่าทำไมนักเรียนจึงมีความเข้าใจผิด ในขณะที่ Sule Bayraktar ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง Misconceptions of Turkish Pre-Service Teachers about Force and Motion วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อตรวจสอบความเข้าใจผิดของครูฝึกสอนฟิสิกส์เกี่ยวกับแรงและการเคลื่อนที่และหาความสัมพันธ์กับเพศ ระดับการศึกษาและวัฒนธรรม โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาฝึกสอนในคณะศึกษาศาสตร์ ของประเทศตุรกี จำนวน 79 คน เครื่องมือที่ใช้ทดสอบคือ Force Concept Inventory (FCI) เป็นแบบทดสอบถามแนวคิดแบบเลือกตอบจำนวน 29 ข้อ ซึ่งตัวเลือกที่ผิดนั้นจะสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแรงและการเคลื่อนที่ สถิติวิจัยที่ใช้คือ การแจงแจงความถี่ การทดสอบด้วย t –test และวิเคราะห์ความแปรปรวนด้วย ANOVA ผลการวิจัยพบว่าครูฝึกสอน มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎข้อที่สามของนิวตันไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเพศชาย-เพศหญิง และปีการศึกษา สอดคล้องกับงานวิจัยอื่น ๆ ที่ทำในประเทศสหรัฐอเมริกาและฟินแลนด์( Sule Bayraktar, 2007) นอกจากนี้ Dilber Refik, Karaman Ibrahim and Duzgun Bahattin ได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง High School Students' Understanding of Projectile Motion Concepts วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของการเรียนการสอนการเปลี่ยนแปลงแนวคิดความเข้าใจผิดของนักเรียน เรื่อง การเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์กับการสอนฟิสิกส์แบบเดิม ซึ่งกลุ่มทดลอง จำนวน 43 คน สอนด้วยกิจกรรมการเรียนการสอนการเปลี่ยนแปลงแนวคิด และ กลุ่มควบคุมจำนวน 39 คน สอนด้วยกิจกรรมการเรียนการสอนฟิสิกส์แบบดั้งเดิม ผลการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนตามแนวความคิด เรื่อง การเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ มีผลการเรียนดีกว่าการสอนฟิสิกส์แบบดั้งเดิม อย่างมีนัยสำคัญ (Dilber Refik, Karaman Ibrahim and Duzgun Bahattin, 2009)
จากผลการวิจัยเกี่ยวกับความเข้าใจผิดในมโนคติเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ ข้างต้น จะเห็นได้ว่าสาเหตุหลัก ๆ คือครูผู้สอน ไม่ว่าจะเป็นครูที่มีประสบการณ์การสอนหลายปี ครูที่เพิ่งจบใหม่ หรือนักศึกษาฝึกสอน หากไม่ได้มีการเตรียมการสอนที่ดี ไม่มีความพร้อมในการจัดเรียนการสอน ประกอบกับมีการทดลองปฏิบัติการทางฟิสิกส์น้อย อันเนื่องมาจากเครื่องมือหรือวัสดุ- อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำปฏิบัติการฟิสิกส์ ค่อนข้างมีราคาแพง หรือเครื่องมือที่มีอยู่ชำรุด ทำให้มีเครื่องมือไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถทำการทดลองให้เห็นจริงในห้องเรียน นักเรียนไม่ได้รับโอกาสในการปฏิบัติซ้ำเนื่องด้วยข้อจำกัดของเวลา และที่สำคัญโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษายังไม่มีโปรแกรมการจำลองหรือชุดทดลองโดยใช้คอมพิวเตอร์ การทดลองการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ที่ทำการวัดเวลาของการเคลื่อนที่โดยใช้นาฬิกาจับเวลา แล้วนำค่าเวลาที่ได้มาหาค่าความเร็ว ทำให้ไม่สามารถวัดค่าเวลาที่แม่นยำ ส่งผลต่อในการเขียนกราฟหาความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องได้ และแน่นอนก็จะส่งผลต่อความเข้าใจผิดของนักเรียน ทำให้การทดลองการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ มักจะประสบปัญหาในเรื่องการวัดค่าที่ผู้ทดลองเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเอง นักเรียนไม่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้อย่างละเอียดถูกต้องตลอดเวลา การประมวลผลข้อมูลด้วยการคำนวณบางครั้งต้องใช้คณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน ทำให้เสียเวลาในการคำนวณ การวัดค่าช่วงเวลา มีค่าความคลาดเคลื่อนค่อนข้างมากและมีผลต่อเนื่องในการนำค่าดังกล่าวไปคำนวณหาค่าตัวแปรอื่น ๆ แล้วสะท้อนไปยังในเนื้อหาฟิสิกส์เรื่องอื่น ๆ และวิชาอื่น ๆ ด้วย ทำให้ปัญหาการเรียนวิชาฟิสิกส์ในระดับมัธยมศึกษานั้นยากจะแก้ไขและส่งผลต่อระบบการจัดการศึกษาฟิสิกส์ในระดับมหาวิทยาลัย นักเรียนยังมีความเข้าใจผิดในมโนคติเกี่ยวกับเนื้อหาฟิสิกส์ และจะเป็นปัญหาในระดับชาติว่าจะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ ทั้งนี้เพราะต้องใช้ความรู้ทางฟิสิกส์เป็นพื้นฐาน ไปพัฒนาออกแบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรกล ยานพาหนะ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรและทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์เทคโนโลยี
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าระบบการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยได้พัฒนารุดหน้าไปกว่าสมัยก่อนมาก ด้วยทุนทรัพย์และการสนับสนุนที่มากขึ้นทำให้โรงเรียนสามารถจัดหาอุปกรณ์สื่อการสอนที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในชนบทที่ห่างไกลหรือในเมืองก็มีคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนใช้ แต่ชุดทดลองสำเร็จรูปที่มีขายในประเทศไทยค่อนข้างมีราคาสูง หรือบางชุดการทดลองต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ หากได้มีการออกแบบสร้างชุดการทดลองที่สามารถเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ขึ้นเองได้ จะทำให้ผู้เรียนมีความรู้ทางด้านนี้มากขึ้น สามารถเรียนรู้ได้ง่าย สามารถทำงานซ้ำ ๆ หรือทำงานที่ละเอียดได้ สามารถแสดงผลออกมาในรูปแบบที่เข้าใจง่ายหรือแสดงผลในรูปกราฟได้ จำลองหรือทดลองเสมือนให้เหตุการณ์ที่ต้องการศึกษาเกิดขึ้นในคอมพิวเตอร์ สามารถทำนายผลการทดลองและทำให้ผู้ทดลองเห็นผลการทดลองได้อย่างชัดเจน ซึ่งในประเทศไทยเราก็มีงานวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาชุดการทดลองทางฟิสิกส์เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ เช่น เรื่องการพัฒนาชุดเครื่องมือวัดทางฟิสิกส์ (กลศาสตร์) เชื่อมต่อกับระบบไมโครคอมพิวเตอร์ (นันทชัย ทองแป้น, 2542) ได้พัฒนาชุดต้นแบบเครื่องมือวัดทางฟิสิกส์ (กลศาสตร์) เชื่อมต่อกับไมโครคอมพิวเตอร์โดยอาศัยหลักการของแสง หลักการทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ ในการพัฒนาเครื่องมือตรวจจับเวลาในการเคลื่อนที่ของวัตถุ และเครื่องมือที่ใช้สำหรับการนำข้อมูลดังกล่าวไปประมวลผล วิเคราะห์ผล และแสดงผลด้วยไมโครคอมพิวเตอร์ โดยสามารวัดเวลาได้ละเอียด 1/1000 วินาที และทำการทดลองเรื่องการตกอย่างอิสระของวัตถุ เพื่อหาค่าความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก พบว่า การวัดเวลาจำนวน 20 ครั้ง มีส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเฉลี่ย 0.03% และหาค่าความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของโลก ณ ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ 1 (ห้อง4-222) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ 9.826 m/s2 ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ความคลาดเคลื่อน 0.265% การศึกษาวิจัยเรื่องนี้สามารถประยุกต์ใช้ชุดเครื่องมือดังกล่าวกับการเรียนการสอน หรืองานวิจัย ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของวัตถุได้ทุกชนิดของการเคลื่อนที่ และปราโมทย์ เสตสุวรรณและปิยะรัตน์ พราหมณี ได้ทำการวิจัย เรื่อง การพัฒนาชุดทดลองทางฟิสิกส์โดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์ควบคุมการอ่านค่าและประมวลผลโดยทำการออกแบบระบบควบคุมการจับเวลาอัตโนมัติ ควบคุมด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ และพัฒนาชุดโปรแกรมให้ทำการเก็บข้อมูลและคำนวณผลข้อมูล ให้ทำงานได้อัตโนมัติ ทดสอบกับชุดการทดลองการเคลื่อนที่แบบ Pendulum เพื่อวัดค่าคาบเวลาและคำนวณหาค่าอื่นๆที่คำนวณได้จากค่าของคาบเวลาโดยใช้โปรแกรมที่ออกแบบสำหรับชุดการทดลองดังกล่าว และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปยังเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ เพื่อทำการคำนวณและแสดงผลเป็นกราฟ และบันทึกข้อมูลการทดลองเก็บลงในฐานข้อมูล (Database) ซึ่งสามารถเรียกขึ้นมาดูและนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมในภายหลังได้ (ปราโมทย์ เสตสุวรรณ และปิยะรัตน์ พราหมณี,2549)
นอกจากนี้ Tilak De Alwis ได้ทำการศึกษา เรื่อง Projectile motion with Mathematica ซึ่งกล่าวถึงการใช้โปรแกรม Mathematica ในการวิเคราะห์การเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์โดยที่มีและไม่มีแรงต้านอากาศ หากยิงวัตถุจากระดับพื้นดินทำมุมไม่เกิน 90 ด้วยความเร็วค่าต่าง ๆ โดยไม่คิดแรงต้านอากาศ วัตถุจะเคลื่อนที่เป็นเส้นโค้งพาราโบลา แต่ในความเป็นจริง การเคลื่อนที่ดังกล่าวต้องมีแรงต้านอากาศ สมการเคลื่อนที่จึงมีความซับซ้อน ยุ่งยากในการคิดคำนวณ การใช้โปรแกรม Mathematica จะช่วยให้การคำนวณสมการเป็นเรื่องที่ง่าย สามารถสร้างจำลองแบบการเคลื่อนที่ได้หลากหลายสถานการณ์ ง่ายต่อการทำความเข้าใจ (Tilak De Alwis ,2000)
จากการศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องข้างต้น ผู้วิจัยจึงสนใจพัฒนาชุดทดลองการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ โดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์และวงจรอิเล็กทรอนิกส์มา เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ โดยมีโปรแกรม Mathematica ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลและคำนวณหาค่าความเร่งที่เกิดจากการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ของวัตถุ พร้อมกับแสดงผลลัพธ์ที่ได้บนจอคอมพิวเตอร์และเปรียบเทียบผลที่ได้จากการทดลองกับผลจากการจำลองเชิงตัวเลข สำหรับเป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ในระดับมัธยมศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ได้ชัดเจนและรวดเร็วมากขึ้น อันจะเป็นการกระตุ้นความสนใจ ให้นักเรียนเห็นความสำคัญ มีความเข้าใจพื้นฐานที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบโปรเจกไตล์ อันจะส่งผลให้ผู้เรียนมีผลการเรียนวิชาฟิสิกส์ดีขึ้น สามารถเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ต่อยอดความรู้พื้นฐานทางฟิสิกส์ไปพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ทัดเทียมนานาประเทศได้
10/24/2552
เทสโก้..โลตัส.... มาหานะเธอ
อย่างแรกเลยคือ เห็นภาพเด็กนักเรียนสาว ๆ ไปช๊อปปิ้งที่โลตัส ด้วยการสวมชุดนอนบาง ๆ แบบ
ที่เป็นกางเกงขาสั้น หน้าตาดูมีความสุข และภาคภูมิใจมากมายที่ได้ใส่ชุด(ที่คิดว่าน่ารัก)
ไม่ใช่แค่คนเดียวนะ ที่เจอ เมื่อวานอย่างน้อยก็ 5 คน มาเป็นกลุ่ม เป็นคู่ 55555555 น่ารัก(ษา)
อย่างที่สองคือ คนทุ่งสงบ้านเรา ไม่รุ้จักถังขยะกันหรืออย่างไร เลยใช้ลานจอดรถเป็นที่ทิ้งขยะ ที่ลานจอดรถ
ตอนนี้เปิดเป็นตลาดนัด คนเยอะมาก ขายของกินก็เยอะ ก็ซื้อกันมากิน บ้างก็เดินกิน บ้างก็นั่งตรงท้ายรถ(กะบะ)
กินที่ใหนก็ทิ้งที่นั่น (คงคล้าย ๆ กับความพยายามอยุ่ที่ใหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น)
เฮ้อออออ ต้องทำไรได้ซักอย่างสิเรา....................
10/11/2552
สรุปผลงานในรายวิชาปรัชญาและวิสัยทัศน์ทางวิทยาศาสตร์
http://www.chauatscience.blogspot.com/
http://www.pjureescience.blogspot.com/
http://www.mystylemyscience.blogspot.com/
จัดนิทรรศการ เรื่อง วิทยาศาสตร์แบบมีส่วนร่วม
สร้างและเขียนบทความลงใน
http://sites.google.com/site/chauatscience/home
https://sites.google.com/site/pjureescience/home
http://sites.google.com/site/mystylemyscience/
ทดสอบทฤษฎีของเปียเจต์ การคิดและทฤษฎีการเรียนรู้
ดูรายละเอียดผลงานเพิ่มเติมได้ที่
http://61.7.241.68/~sciedu5201/
http://61.7.241.68/~sciedu5202/
http://61.7.241.68/~sciedu5203/
7/11/2552
วันนี้ไม่มีการเรียนการสอน
หัสชัย
6/28/2552
ปรัชญาประสบการณ์ตามแนวคิดของจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) สู่การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
“ประสบการณ์” ตามความคิดของจอห์น ดิวอี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประสบการณ์ปฐมภูมิ (Primary experience) และ ประสบการณ์ทุติยภูมิ (Secondary experience)
ประสบการณ์ปฐมภูมิ คือ ประสบการณ์ที่ยังไม่เป็นความรู้ หรือยังไม่ได้มีการคิดไตร่ตรอง เป็นเพียงกระบวนการของการกระทำและการประสบความเปลี่ยนแปลงระหว่างอินทรีย์และสภาพแวดล้อม ส่วนประสบการณ์ทุติยภูมิ เป็นประสบการณ์ประเภทที่เป็นความรู้ คือได้ผ่านกระบวนการคิดไตร่ตรองมาแล้ว ประสบการณ์ปฐมภูมิจะเป็นเนื้อหาของประสบการณ์ทุติยภูมิ เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับคิดไตร่ตรอง ตัวอย่างเช่น เด็กเล่นซน ไปเหยียบถ่านไฟร้อน ๆ ผลปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ คือ เท้าถูกไฟลวก เป็นประสบการณ์ปฐมภูมิ เมื่อเด็กเกิดการเรียนรู้จากผลของการเหยียบถ่านไฟร้อน ทำให้เกิดความเจ็บปวด และไม่อยากเล่นบริเวณที่มีถ่านไฟร้อนอีก หรือระแวงที่จะเล่นไฟ เป็นประสบการณ์ทุติยภูมิ ประสบการณ์ที่เกิดจากการคิดไตร่ตรอง (Reflective thought เรียกอีกอย่างว่าประสบการณ์การรู้ (Cognitive experience)
จอห์น ดิวอี้ มีความเห็นว่าการศึกษาที่ถูกต้อง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการศึกษาแบบเก่าหรือแบบจารีต (Traditional) หรือแบบอนุรักษ์ (Conservative) กับการศึกษาแบบใหม่หรือแบบก้าวหน้า (Progressive) เพียงระบบใดระบบหนึ่ง ปรัชญาของดิวอี้เป็นปรัชญาที่สะท้อนออกมาเด่นชัดในเรื่องการศึกษาที่ยกย่องประสบการณ์ทั้งปวงที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้สถานการณ์ที่เป็นจริง เพราะการศึกษาตามความคิดของจอห์น ดิวอี้ คือ ความเจริญงอกงามทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา และคุณธรรม ดังนั้นกระบวนการสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ที่ต่อเนื่องกับประสบการณ์เก่าไปเรื่อย ต้องส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์ใหม่เพื่อเป็นวิถีนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในปัจจุบันและอนาคตได้
การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริงเป็นการจัดกิจกรรมในลักษณะกลุ่มปฏิบัติการที่เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงจากการเผชิญสถานการณ์จริงและการแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการกระทำ ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง ฝึกคิด ฝึกลงมือทำ ฝึกทักษะกระบวนการต่าง ๆ ฝึกการแก้ปัญหาด้วยตนเองและฝึกทักษะการเสาะแสวงหาความรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม ผู้เรียนได้เรียนรู้ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติตามแนวประชาธิปไตย กระบวนการเรียนรู้แบบแก้ปัญหา เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนี่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อให้ผู้เรียนคิดเป็นและแก้ปัญหาเป็น โดยการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ บางครั้งก็เรียนวิธีสอนนี้ว่าการสอนแบบวิทยาศาสตร์
ปัจจุบันการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริง เป็นการเรียนรู้ในแบบ Learning by doing ผู้เรียนจะเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ แนวคิดนี้จะจัดการสอนแบบโครงการ (Project-based learning) เป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เรียนจากการปฏิบัติจริง เป็นการเรียนจากประสบการณ์ตรง ผู้เรียนได้ทดลองทำปฏิบัติ เสาะหาข้อมูล จัดระเบียบข้อมูล พิจารณาหาข้อสรุป ค้นคว้าหาวิธีการ กระบวนการด้วยตนเอง หรือร่วมกันเป็นกลุ่ม เน้นให้ผู้เรียนมีอิสระในการศึกษาหาความรู้ตามหลักประชาธิปไตยให้ผู้เรียนได้รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น ให้ได้ค้นคว้าหาข้อมูลความรู้จากแหล่งต่าง ๆ มิใช่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น ทำให้ผู้เรียนเกิดนิสัยการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองได้ด้วยความมั่นใจ ผลการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีประสบการณ์ของจอห์น ดิวอี้ ดังนี้
1. ผู้เรียนมีความสุขกับการเรียนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานโดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย และสื่อที่เร้าความสนใจ
2. ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจ ตามความถนัดและศักยภาพด้วยการศึกษา ค้นคว้า ฝึกปฏิบัติฝึกทักษะจนถึงการเรียนรู้ด้วยตนเองทำให้เกิดความเชื่อมั่นเป็นแรงจูงใจให้เกิดการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน
3. กิจกรรมกลุ่มช่วยเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ เกิดกระบวนการทำงาน เช่น มีการวางแผนการทำงาน มีความรับผิดชอบ เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีวินัยในตนเอง มีพฤติกรรมที่เป็นประชาธิปไตย เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี รู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ผู้เรียนที่เรียนรู้ช้าจะเรียนรู้อย่างมีความสุข มีชีวิตชีวา ได้รับกำลังใจและได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ทำให้เกิดความมั่นใจ ผู้เรียนที่เรียนดีจะได้แสดงความสามารถของตนเอง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และแบ่งปันสิ่งที่ดีให้แก่กัน
4. ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดจากการร่วมกิจกรรมและการค้นหาคำตอบจากประเด็นคำถามของผู้สอนและเพื่อน ๆ สามารถค้นหาคำตอบและวิธีการได้ด้วยตนเอง สามารถแสดงออกได้ชัดเจนมีเหตุผล
5. ทุกขั้นตอนการจัดกิจกรรม จะสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้ผู้เรียนได้ซึมซับสิ่งที่ดีงามไว้ในตนเองอยู่ตลอดเวลา
6. คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในการเรียนรู้และการปฏิบัติงาน โดยให้แต่ละคนเรียนรู้เต็มตามศักยภาพของตน ไม่นำผลงานของผู้เรียนมาเปรียบเทียบกัน มุ่งให้ผู้เรียนแข่งขันกับตนเองและไม่เล็งผลเลิศจนเกินไป
7. ผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน คือ ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข เกิดการพัฒนารอบด้าน มีอิสระที่จะเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
ประทุม อังกูรโรหิต.(2543).ปรัชญาปฏิบัตินิยม รากฐานปรัชญาการศึกษาในสังคมประชาธิปไตย.กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
http://www.wangnoi-nfe.com/index.files/Page1139.htm
http://www.wijai48.com/learning_stye/experince_learning/learningbydoing.htm
ชาร์ลส์ แซนเดอรส์ เพิร์ซ : ผู้ให้กำเนิดปรัชญาปฏิบัตินิยม
ปฏิบัตินิยม (Pragmatism) คือ ทัศนะทางปรัชญาที่ให้ความสำคัญแก่ความรู้และความเป็นจริง สิ่งใดที่เรียกว่าจริงได้ต้องเป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์บรรลุจุดมุ่งหมายของชีวิตและช่วยพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น หรือเป็นประโยชน์ต่อชีวิต สิ่งนี้เรียกว่า “ประสบการณ์” (Experience) และประสบการณ์นี้ถึงจะเป็นจริงแต่ก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ไม่ตายตัว และให้ความสำคัญแก่ความรู้เชิงอุปนัย (Induction) คือ ความรู้ที่เกิดจากการสะสมข้อเท็จจริงที่ได้จากการมีประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาระยะหนึ่งด้วยนิสัยและความเคยชินว่าธรรมชาติจะต้องเหมือนเดิมเสมอ ซึ่ง นักปรัชญาลัทธิปฏิบัตินิยมคนสำคัญ มีดังนี้
เพิร์ซ (Charles S. Pierce) : ความคิดทางปรัชญาต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้ เจมส์ (William James) : ยืนยันความคิดของเพิร์ซว่าถูกต้อง และนำไปใช้ได้ผลจริง ดิวอี้ (John Dewey) : ผู้ทดลองหาความคิดที่ดีที่สุดเพื่อปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้
สำหรับประวัติและผลงานของเพิร์ซมีดังนี้
ชาร์ลส์ แซนเดอรส์ เพิร์ซ (ค.ศ.1839-1914) เป็นผู้ริเริ่มขบวนการเคลื่อนไหวแบบปฏิบัตินิยมในสหรัฐอเมริกา หรืออาจกล่าวได้ว่าเพิร์ซเป็น ผู้ให้กำเนิดปรัชญาปฏิบัตินิยม เพราะเป็นผู้นำคำว่า “ปฏิบัตินิยม” มาใช้ แต่ผู้ที่ทำให้คำนี้แพร่หลายและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในวงการปรัชญาและสาธารณชน คือ วิลเลียม เจมส์
เพิร์ซเกิดที่แคมบริดจ์ รัฐแมสซาจูเซต เป็นบุตรชายคนที่สองของ เบนจามิน เพิร์ซ (Benjamin Peirce) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากที่เพิร์ซสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้รับปริญญาทางเคมี แต่การศึกษาอย่างแท้จริงของเขาส่วนใหญ่มาจากบิดา ซึ่งเป็นผู้กระตุ้นให้เพิร์ซสนใจการทดลองในห้องปฏิบัติการมาแต่เยาว์วัย และที่สำคัญยิ่งคือเป็นผู้สอนคณิตศาสตร์ให้ จึงอาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาทางปัญญาของเพิร์ซมีพื้นฐานมาจากคำสอนของบิดาของเขาเสียเป็นส่วนมาก
ปี ค.ศ.1863 ได้รับปริญญาทางเคมีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ปี ค.ศ.1861-1891 เข้าร่วมเป็นคณะผู้ทำงานใน The United States Coastal and Geodesic Survey ได้ทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และปรัชญา และเริ่มต้นอ่านผลงานของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียง เช่น Critique of Pure Reason ของ คานต์
ปี ค.ศ.1864-1865 เป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ปี ค.ศ.1869-1870 เป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ปี ค.ศ.1870-1871 เป็นผู้บรรยายวิชาตรรกวิทยา
ปี ค.ศ.1879-1884 ได้สอนวิชาตรรกวิทยาที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ หลังจากนั้นไม่ได้กลับไปดำรงตำแหน่งทางวิชาการอีก จึงได้เรียบเรียงผลงานการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาที่ได้เริ่มทำไว้
ปี ค.ศ.1905 เพิร์ซไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาทฤษฎีปฏิบัตินิยมของเจมส์ จึงเปลี่ยนชื่อทฤษฎีจาก pragmatism เป็น pragmaticism
ปี ค.ศ.1931-1935 หลังจากที่เพิร์ซเสียชีวิตแล้ว งานชิ้นสำคัญของเขาได้รับการจัดพิมพ์ รวมทั้งหมด 8 เล่ม (volumes) ในชื่อว่า Collected Papers โดยศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ ฮาร์ตชอร์น (Charles Harshorne) และ พอล ไวสส์ (Paul Weiss) เป็นผู้เรียบเรียงตรวจสอบ 6 เล่มแรก
ปี ค.ศ.1957 Collected Papers อีก 2 เล่มได้รับการจัดพิมพ์ โดยมีศาสตราจารย์ เอ ดับเบิลยู เบิร์ค (A. W. Burke) เป็นบรรณาธิการ
เพิร์ซปฏิเสธทฤษฎีความสงสัยของ เดการ์ต ที่ว่า “เราควรเริ่มต้นจากการสงสัยทุกสิ่งทุกอย่าง จนกระทั่งในที่สุดเราจะพบว่ามีสิ่งหนึ่งที่เราสงสัยไม่ได้ นั่นคือ ความสงสัยที่เรามีอยู่” ซึ่งทำให้ เรอเน เดการ์ต สรุปว่า “ฉันสงสัย ฉันจึงมีอยู่” (I doubt, therefore I exist.) แต่เพิร์ซเห็นว่า ความสงสัยที่เดการ์ตเสนอนั้นมิใช่ความสงสัยที่แท้จริง เพราะความสงสัยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อมีประสบการณ์บางอย่างเกิดขัดแย้งกับความเชื่อเดิมของเรา และเมื่อเกิดความขัดแย้งกันขึ้น เราก็จะแสวงหาแนวทางต่างๆ มาขจัดสภาวะแห่งความขัดแย้งนั้นให้หมดไปลัทธิปฎิบัตินิยมของ Peirce ได้รับอิทธิพลจากวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์
เพิร์ซจึงเป็นผู้คิดสร้างทฤษฏีความสงสัยและความเชื่อ (The Doubt – Belief Theory) ทฤษฎีนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการหาความรู้ ซึ่งเพิร์ซเห็นว่าสิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องพัฒนานิสัยให้ เหมาะสมเพียงพอที่จะสนองความต้องการจำเป็นของตน ทั้งนี้เพื่อที่จะทำให้ตนเองมีชีวิตอยู่รอดได้ นิสัยเหล่านี้คือกฎเกณฑ์ที่ทำให้เกิดพฤติกรรม เพิร์ซเรียกนิสัยที่เรารับเข้ามาไว้ในตัวเราว่า ความเชื่อ (belief) การมีความเชื่อ คือ การรู้ว่าเราจะสนองความต้องการของเราได้อย่างไร ส่วนความสงสัย (doubt) เป็นสภาวะของการขาดความเชื่อ
เพิร์ซเชื่อว่าเป้าหมายของการหาความรู้ คือ เพื่อกำหนดความคิดเห็นของตนให้แน่นอนหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเพื่อทำให้ความเชื่อมั่นคง ซึ่งการกำหนดความเชื่อให้มั่นคง เป็นวิธีทำให้ความเชื่อนั้นดำรงอยู่ได้ในระยะเวลานาน ในบทความเรื่อง “The Fixation of Belief” เพิร์ซได้อธิบายวิธีกำหนดความเชื่อให้มั่นคง 4 วิธี ดังนี้
วิธีที่ 1 การยึดมั่นในหลักการใดหลักการหนึ่งอย่างฝังหัว (method of tenacity) เช่น หลักการที่ว่าตายแล้วจะได้ไปสวรรค์ การยึดมั่นแบบนี้จะมีข้อบกพร่องไม่นำไปสู่ความเชื่อที่คงทนและดำรงอยู่ได้ในช่วงเวลานานนอกจากนี้เพิร์ซยังได้เสนอความคิดเรื่องทฤษฎีความหมายแบบปฏิบัติการ (the operationist theory ot meaning) ขึ้น ทฤษฎีนี้อธิบายวิธีทำให้ความคิดของคนเราแจ่มแจ้ง
วิธีที่ 2 การใช้อำนาจหรือประกาศิต (method of authority) วิธีนี้ปรากฏในคำสอนทางศาสนาและการเมือง
วิธีที่ 3 วิธีการก่อนประสบการณ์ (a priori method) มีเหตุผลและน่าเชื่อกว่า 2 วิธีแรก
แต่เพิร์ซก็เห็นว่าวิธีการแบบนี้เหมือนกับเรื่องของรสนิยมซึ่งเป็นไปตามสมัยนิยม
วิธีที่ 4 วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (method of science) เป็นวิธีที่สามารถยุติความสงสัยที่ได้ผลดีที่สุด วิธีนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นจริงซึ่งอยู่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับความเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง
ลัทธิปฏิบัตินิยม (Pragmatism) กับการศึกษา
ลัทธิปฏิบัตินิยมเป็นต้นตำหรับของการเรียนโดย “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” (Child center) ซึ่งเน้นความสำคัญของกิจกรรมมากกว่าการเรียนจากตำรา ลักษณะการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ
แบบที่ 1 เรียนโดยผ่านทางกิจกรรม ปฏิเสธหรือต่อต้านการเรียนรู้โดยการเทหรือยัดเยียดความรู้ที่ใส่เข้ามาในตัวเด็กอย่างสิ้นเชิง
แบบที่ 2 เรียนโดยการแก้ปัญหา (Problemsolving) ซึ่งส่วนใหญ่การเรียนการสอนจะมีลักษณะเป็นการสร้างโปรเจ็ค หรือ โครงการการเรียนการสอนแบบนี้จะทำให้เด็กเป็นคนรู้จักคิด อยากรู้อยากเห็นและแสดงออกในแนวคิดของตนเอง
แบบที่ 3 เรียนโดยการอภิปรายถกเถียง (Discussion) เป็นการระดมความคิดแบบกลุ่ม การยอมรับฟังและยอมรับข้อเสนอแนะของผู้อื่น เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ฉลาดและมีคุณค่าสำหรับการมีชีวิตในสังคม และนอกจากนั้นยังสนับสนุนการเรียนนอกสถานที่ รวมไปถึงการท่องเที่ยวด้วยแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
http://en.wikipedia.org/wiki/Charles_Sanders_Peirce
www.m-ed.net/doc01/Pragmatism.doc
www.cyberclass.msu.ac.th/cyberclass/cyberclass.../pp7.ppt
6/27/2552
วิลเลียม เจมส์ : นักคิดแห่ง ทฤษฎี ปฏิบัตินิยม
เมื่อมนุษย์พยายามหาสิ่งอื่นทดแทนสิ่งเหนือธรรมชาติ จึงเกิดความขัดแย้งในทางความคิด
จอห์น ดิวอี้ เชื่อว่า สิ่งเดียวที่มนุษย์สามารถทำได้คือ การเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ
วิลเลียม เจมส์ เชื่อว่า ความคิดทั้งหลายทางปรัชญาสามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่ให้ผลได้จริงในประสบการณ์ของเราในอนาคต
“ทัศนะของเจมส์” ปรัชญามีหน้าที่ของตนเอง คือ การหาทางที่จะทำให้ความคิดของคนเราไป ด้วยกันได้
นอกจากนี้เขายังเชื่อว่า
ปฏิบัตินิยมเป็นวิธีที่ทำให้ความคิดแจ่มแจ้ง ซึ่งจะทำให้เราสามารถกำหนดรู้ ความหมายของความคิดนั้นได้
ปฏิบัตินิยม คล้ายกับ ประสบการณ์นิยม คือ สนใจสิ่งที่ทดสอบได้ด้วยประสาทสัมผัส
เปลี่ยนแปลงทัศนคติบางอย่างของปรัชญา คือ
ลดความเป็นนักเหตุผลนิยมที่รุนแรงลง
วิทยาศาสตร์และอภิปรัชญาเข้าใกล้กันมากขึ้น
ทฤษฏีต่าง ๆ ที่อธิบายโลกและจักรวาลถูกนำมาใช้
ไม่หยุดที่ทฤษฏีใดทฤษฏีหนึ่ง
1. มีกระบวนการพิสูจน์ ความจริง พิสูจน์ให้เห็นจริง สามารถอธิบายได้ และก่อให้เกิดผลหรือ ประโยชน์ในประสบการณ์ของเรา
ความรุ้ทางวิทยาศาสตร์เมื่อผ่านการพิสูจน์(ทดลอง)แล้ว สามารถใช้อธิบายเรื่องราว
ปฏิบัตินิยม หากเชื่อแล้ว ปรากฏว่ามีหลักฐานใหม่ หรือข้อพิสูจน์ใหม่
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน หากมีการค้นพ้นหลักฐาน หรือข้อพิสูจน์ใหม่ ๆ ความรู้นั้น ๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน เช่น เมื่อก่อนเราเชื่อว่าโลกแบน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีการนำเสนอหลักฐานการค้นพบใหม่ ๆ ทำให้ความคิดที่ว่าโลกแบน เวลาเดินตรงไปเรื่อย ๆ อาจจะตกขอบโลก ถูกแทนที่ด้วยความรู้ใหม่ทีว่า โลกกลม
เจมส์ มองโลกแบบพหุนิยม แต่ก็สามารถมองโลกในแง่ของความเป็นหนึ่งแบบปฏิบัตินิยม
ความเชื่อ ความศรัทธา ทางศาสนา ก็ถือเป็นวิทยาศาสตร์ คือมีการตั้งสมมุติฐาน แต่สมมุติฐานในการศรัทธาสิ่งใดนั้น ต้องอาศัยการทดลองเป็นระยะเวลานาน ไม่สามารถอ้างเหตุผลทางตรรกะมาพิสูจน์ความจริงในศาสนาได้
เจมส์ ยังคงยืนยันว่า ความหมายของ ความคิด ได้รับการค้นพบเพียง ในภาคของบทสรุปที่ เป็นไปได้เท่านั้น หากบทสรุปไม่เพียงพอ ความคิด ก็ไร้ความหมาย เจมส์ยืนยันว่า สิ่งนั้น เป็นวิธีที่ นักวิทยาศาสตร์ ใช้ในการนิยามหัวข้อ และ เพื่อทดสอบ สมมติฐานของ พวกเขา ซึ่ง อาจจะเป็น คำทำนาย ที่มีความหมาย และ ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้
เจมส์เชื่อในหลักปฏิบิตนิยมมากกว่า แต่เขาก็กล่าวว่า หลักการแบบปฏิบัตินิยมจะไม่สามารถปฏิเสธสมมุติฐานใด ๆ ได้
แหล่งข้อมูล http:// http://www.infoplease.com/
6/26/2552
ความรู้ทั่วไปต่างจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างไร
หลายคนคงสงสัยและตั้งคำถามอย่างนี้มาบ้างแล้ว ในหมู่นักปรัชญาเองก็เช่นกัน มักจะตั้งคำถามทำนองนี้เพื่อฝึกลับสมองให้ได้คิดอยู่เสมอ..
อาจารย์นักปรัชญาของพวกเรา (ขอเรียกอย่างนี้นะคะอาจารย์) ต้องการให้ลูกศิษย์ได้ฝึกลับสมองเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เลยหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาให้ลูกศิษย์ช่วยกันเขียน.. พออ่านที่เพื่อนสมาชิกท่านอื่นเขียนกันแล้ว ก็เริ่มเครียด..เพราะตัวเองยังนึกไม่ออกเลยว่าจะเขียนอะไรดี..ยังไงก็ฝากท่านผู้อ่านช่วยดูให้ด้วยนะคะ
เมื่อถามว่าความรู้ทั่วไปแตกต่างจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างไรนั้น ก็ต้องบอกว่าเป็นคำถามที่ตอบยากและต้องใช้เวลาคิดนานพอสมควร ...จะว่าไปแล้วความรู้ทั้ง 2 อย่างนี้อาจจะมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกันอยู่บ้าง ทั้งนี้เนื่องจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็จัดเป็นแขนงหนึ่งของความรู้ด้วยเช่นกัน.. และเมื่อลองศึกษาข้อมูลก็พบว่ามีหลายท่านได้ให้ความหมาย หรือคำจำกัดความของคำว่า “ความรู้ (Knowledge)” ไว้ดังนี้
- พจนานุกรมทางการศึกษา (Carter V. Good 1973:325) ได้ให้ความหมายของ ความรู้ ว่า “ความรู้เป็นข้อเท็จจริง (Facts) ความจริง (Truth) กฎเกณฑ์และข้อมูลต่างๆที่มนุษย์ได้รับและรวบรวมสะสมไว้จากมวลประสบการณ์ต่างๆ
- เธียรศรี วิวิธศิริ (2527:19-20) กล่าวว่า การเรียนรู้ในผู้ใหญ่เกิดจากการประสบการณ์ 3 ประการ คือ
1. การเรียนรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ทางธรรมชาติ (NATURAL SETTING) คือ เรียนรู้จากสภาพธรรมชาติที่อยู่ใกล้ๆตัว
2. การเรียนรู้จากประสบการณ์ทางสังคม (SOCIETY SETTING) มีอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ โทรทัศน์ เป็นต้น
3. การเรียนรู้จากสภาพการณ์การของการจัดการเรียนการสอน (FORMAL INSTRUCTIONAL SETTING) คือมีผู้แทนจากสถาบันจัดระดับการเรียนรู้มีจุดหมายและต่อเนื่อง
- เบนจามิน บลูม (Benjamin S. Bloom อ้างถึงในอักษร สวัสดี 2542, 26-28) ได้ให้ความหมายของ ความรู้ ว่าหมายถึง เรื่องที่เกี่ยวกับการระลึกถึงสิ่งเฉพาะ วิธีการและกระบวนการต่าง ๆ ของโครงการวัตถุประสงค์ในด้านความรู้ โดยเน้นในเรื่องของกระบวนการทางจิตวิทยาของความจำ อันเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการจัดระเบียบ โดยก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1965 บลูมและคณะ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้หรือพุทธิพิสัย (cognitive domain) ของคน ว่าประกอบด้วยความรู้ตามระดับต่าง ๆ รวม 6 ระดับ ซึ่งอาจพิจารณาจากระดับความรู้ในขั้นต่ำไปสู่ระดับของความรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป โดยบลูมและคณะ ได้แจกแจงรายละเอียดของแต่ละระดับไว้ดังนี้
1. ความรู้ (Knowledge) หมายถึง การเรียนรู้ที่เน้นถึงการจำและการระลึกได้ถึงความคิด วัตถุ และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นความจำที่เริ่มจากสิ่งง่าย ๆ ที่เป็นอิสระแก่กัน ไปจนถึงความจำในสิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนและมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน
2. ความเข้าใจหรือความคิดรวบยอด (Comprehension) เป็นความสามารถทางสติปัญญาในการขยายความรู้ ความจำ ให้กว้างออกไปจากเดิมอย่างสมเหตุสมผล การแสดงพฤติกรรมเมื่อเผชิญกับสื่อความหมาย และความสามารถในการแปลความหมาย การสรุปหรือการขยายความสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
3. การนำไปปรับใช้ (Application) เป็นความสามารถในการนำความรู้ (knowledge) ความเข้าใจหรือความคิดรวบยอด (comprehension) ในเรื่องใด ๆ ที่มีอยู่เดิม ไปแก้ไขปัญหาที่แปลกใหม่ของเรื่องนั้น โดยการใช้ความรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการกับความคิดรวบยอดมาผสมผสานกับความสามารถในการแปลความหมาย การสรุปหรือการขยายความสิ่งนั้น
4. การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นความสามารถและทักษะที่สูงกว่าความเข้าใจ และการนำไปปรับใช้ โดยมีลักษณะเป็นการแยกแยะสิ่งที่จะพิจารณาออกเป็นส่วนย่อย ที่มีความสัมพันธ์กัน รวมทั้งการสืบค้นความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ เพื่อดูว่าส่วนประกอบปลีกย่อยนั้นสามารถเข้ากันได้หรือไม่ อันจะช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างแท้จริง
5. การสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นความสามารถในการรวบรวมส่วนประกอบย่อย ๆ หรือส่วนใหญ่ ๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เป็นเรื่องราวอันหนึ่งอันเดียวกัน การสังเคราะห์จะมีลักษณะของการเป็นกระบวนการรวบรวมเนื้อหาสาระของเรื่องต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างรูปแบบหรือโครงสร้างที่ยังไม่ชัดเจนขึ้นมาก่อน อันเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ภายในขอบเขตของสิ่งที่กำหนดให้
6. การประเมินผล (Evaluation) เป็นความสามารถในการตัดสินเกี่ยวกับความคิด ค่านิยม ผลงาน คำตอบ วิธีการและเนื้อหาสาระเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง โดยมีการกำหนดเกณฑ์ (criteria) เป็นฐานในการพิจารณาตัดสิน
จากความหมายดังกล่าว ความรู้ หมายถึง การรับรู้ข้อเท็จจริง (Facts) ความจริง (Truth) กฎเกณฑ์ และข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการศึกษา จากรายงาน ซึ่งพฤติกรรมเบื้องต้นที่ผู้เรียนสามารถจำได้ ระลึกได้โดยได้ยิน การมองเห็น การสังเกต หรือจากประสบการณ์ทางธรรมชาติ คือ เรียนรู้จากสภาพธรรมชาติที่อยู่ใกล้ๆตัว การเรียนรู้จากสังคม เช่น จากการอ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต หรือจากการเรียนการสอน คือ มีผู้แทนจากสถาบันจัดลำดับการเรียนรู้อย่างมีจุดหมายและต่อเนื่อง เป็นต้น
ส่วนคำว่า วิทยาศาสตร์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Science" ซึ่งมาจากศัพท์ภาษาลาตินว่า "Scientia" แปลว่า ความรู้ (Knowledge) ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลากหลายดังนี้
- ผดุงยศ ดวงมาลา (2523 : 1) กล่าวว่า ถ้าจะให้นิยามความหมายของวิทยาศาสตร์ว่า "ความรู้" ตามความหมายที่แปลมาจากภาษาลาติน ดูเหมือนว่าจะมีความหมายที่สั้นและแคบจนเกินไป เพราะธรรมชาติหรือแก่นสารที่แท้จริงของวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้หมายถึงความรู้เนื้อหาวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเจตคติทางวิทยาศาสตร์ด้วย ซึ่งหมายความว่าในการเรียนวิทยาศาสตร์นั้น ผู้เรียนจะต้องได้ทั้งตัวความรู้วิทยาศาสตร์ วิธีการ และเจตคติวิทยาศาสตร์ไปพร้อม ๆ กัน
- ชำนาญ เชาวกีรติพงศ์. (2534 : 5) ได้ให้ความหมายของวิทยาศาสตร์ว่าหมายถึง ความรู้ที่แสดงหรือพิสูจน์ได้ว่าถูกต้องเป็นความจริง จัดไว้เป็นหมวดหมู่ มีระเบียบและขั้นตอน สรุปได้เป็นกฎเกณฑ์สากล เป็นความรู้ที่ได้มาโดยวิธีการที่เริ่มต้นด้วยการสังเกต และ/หรือ การจัดที่เป็นระเบียบมีขั้นตอน และปราศจากอคติ ซึ่งสอดคล้องกับการให้ความหมายของ The Columbia Encyclopedia (อ้างถึงใน สมจิต สวธนไพบูลย์ 2535 : 93) ซึ่งอธิบายว่า วิทยาศาสตร์ เป็นการรวบรวมความรู้อย่างมีระบบ ความรู้ที่ได้รวบรวมไว้นี้เป็นความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ความเจริญก้าวหน้าทาง วิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นนั้น มิได้หมายถึงเฉพาะการรวบรวมข้อเท็จจริงเพียงสภาพพลวัต หรือมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและตามสภาพการกระตุ้นจากภายในหรือจากสภาพภายนอก ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกิดจากการสังเกตธรรมชาติและการวิเคราะห์วิจัย วิทยาศาสตร์จึงเป็นสากลเพราะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยหลักการเดียวกัน วิทยาศาสตร์จึงไม่ถูกจำกัดด้วยเวลา สถานที่ และวัฒนธรรม
- สุวัฒก์ นิยมค้า (2531 : 105-107) ได้รวบรวมทัศนะต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความหมายของวิทยาศาสตร์ จากนักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ไว้ดังนี้คือ
1. แนช (Nash) นักเคมีกล่าวว่า วิทยาศาสตร์เป็นวิถีทางอย่างหนึ่งของการเข้าไปสำรวจโลก ซึ่งถือเป็นการมองวิทยาศาสตร์ในฐานะกระบวนการ
2. วิกเนอร์ (Wigner) นักฟิสิกส์กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ คือ ความรู้ของ ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ได้สะสมไว้ ซึ่งถือเป็นการมองวิทยาศาสตร์ในฐานะตัวความรู้
3. บูเบ้ (Bube) นักฟิสิกส์ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์คือ ความรู้ของโลกธรรมชาติซึ่งได้มาโดยผ่านการปะทะสังสรรค์กับประสาทสัมผัส ซึ่งถือเป็นการมองวิทยาศาสตร์ในฐานะตัวความรู้กับกระบวนการ โดยเน้นว่า กระบวนการที่ขาดไม่ได้ คือ การสังเกต
4. ฟิชเชอร์ (Fischer) คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและคณิตศาสตร์ วิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า วิทยาศาสตร์คือ องค์ของความรู้ ซึ่งได้มาโดยวิธีการวิทยาศาสตร์โดยอาศัยการสังเกตเป็นพื้นฐาน
5. สแตฟฟอร์ด และคณะ (Stafford and others) นักการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ได้ให้ความหมายของวิทยาศาสตร์ไว้ 6 ประการ ดังนี้ คือ
5.1 วิทยาศาสตร์ เกี่ยวข้องกับการมีประสบการณ์ตรงกับปรากฏการณ์ของธรรมชาติ (วัตถุและเหตุการณ์ที่แวดล้อมเราอยู่) แล้วมีการรวบรวมรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับวัตถุและเหตุการณ์นั้น ๆ
5.2 วิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับการจัดกระทำข้อมูลและการตีความหมายข้อมูลที่ได้
5.3 วิทยาศาสตร์มีธรรมชาติเป็นคู่แฝด ด้านหนึ่งนั้นเป็นการสะสมความรู้ที่ได้ผ่านการทดลองแล้ว และอีกด้านหนึ่งจะเป็นวิธีการค้นหาความรู้
5.4 วิทยาศาสตร์มีธรรมชาติที่ท้าทายความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์
5.5 วิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับความพยายามที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หรืออธิบายกฎเกณฑ์ที่ได้จากปรากฏการณ์นั้น รวมทั้งการขยายความรู้ให้กว้างออกไปเลยจากประสบการณ์ที่ได้รับ
5.6 ความรู้วิทยาศาสตร์ที่ได้รับเพิ่มนั้นมีลักษณะสืบต่อจากความรู้เก่าที่มีคนค้นพบไว้แล้ว นักวิทยาศาสตร์คนใหม่ จะอาศัยความรู้และความคิดของนักวิทยาศาสตร์คนก่อน ๆ เป็นบันไดก้าวไปหาความรู้ใหม่ต่อไป
6. จาคอบสันและเบอร์กแมน (Jacobson & Bergman) ได้อธิบายธรรมชาติและโครงสร้างของวิทยาศาสตร์ว่า ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ
6.1 ส่วนที่เป็นความจริงพื้นฐาน ที่ไม่ต้องพิสูจน์ (assumptions in
science)
6.2 ส่วนที่เป็นวิธีการ และกระบวนการวิทยาศาสตร์ (methods and
processes of science)6.3 ส่วนที่เป็นตัวความรู้ (broad generalizations of science)
จากข้อมูลข้างต้น.. สามารถสรุปได้ว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่สามารถทดสอบได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยการสังเกต การจดบันทึก การตั้งสมมติฐานโดยใช้หลักฐานทางปรัชญา และตรรกศาสตร์ แล้วพยายามตรวจสอบสมมติฐานโดยการวัดหรือหาค่าออกมาทั้งในด้านคุณค่า (นามธรรม) และปริมาณ (รูปธรรม) ถ้าจะเปรียบวิทยาศาสตร์เสมือนต้นไม้ใหญ่แล้วรากแก้วที่สำคัญ 3 ราก คือ วิชาปรัชญา ตรรกศาสตร์ และคณิตศาสตร์...
ส่วนความรู้ทั่วไปนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าความรู้เกือบทุกด้านต่างก็ต้องอาศัยพื้นฐานของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งวิธีการทางวิทยาศาสตร์อาจจะซุกซ่อนอยู่มากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละเรื่อง บางเรื่องอาจจะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มรูปแบบ แต่บางเรื่องก็อาจจะได้มาไม่ครบตามระเบียบวิธีการก็ได้.. แล้วคุณผู้อ่านล่ะคะมีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง
6/24/2552
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ VS ความรู้ทั่วไป
ความรู้ทั่ว ๆ ไป เป็นสิ่งที่เราต้องรู้โดยอาศัยการเรียนรู้ผ่าน กิจวัตรในชีวิตประจำวัน เป็นการลองผิดลองถูกประเภทหนึ่ง เช่นถ้าเราไม่ทำเช่นนั้น ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ไม่สามารถที่จะไปพูดคุยกับใครได้
............................
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ที่เกิดจากความสงสัย มนุษย์มองธรรมชาติ แล้วเกิดความสงสัย ต้องการที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้น จึงมีการศึกษา ค้นคว้า โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
การค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งก็คือการเรียนรู้ และเข้าใจธรรมชาติ) ทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เราเห็นได้ว่าชีวิตเราเปลี่ยนแปลงจริง ๆ เช่น
1. กฎการตกของวัตถุ (The Law of Falling Bodies) ค้นพบในปี 1604 กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) นักวิทยาศาสตร์ผู้หาญกล้าล้มแนวคิดของอริสโตเติล (Aristotel) ที่ผู้คนเชื่อถือมากว่า 2,000 ปี ว่าวัตถุที่หนักกว่าจะตกถึงพื้นได้เร็วกว่าวัตถุที่เบากว่า โดยเขาได้ทำการพิสูจน์ว่าวัตถุต่างๆ แม้จะมีน้ำหนักไม่เท่ากันแต่จะตกถึงพื้นพร้อมกัน
2. สมการ E=mc2 ค้นพบในปี 1905 หรือกล่าวได้ว่าพลังงานเท่ากับความเร็วแสงยกกำลังสองที่ทวีคูณด้วยน้ำหนักของวัตถุเอง โดยสมการอันโด่งดังของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์นี้พิสูจน์ว่ามวลและพลังงานเป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างชัดแจ้งในวัตถุเดียวกัน และมวลเล็กๆ สามารถผันกลับเป็นพลังงานปริมาณมหาศาลได้ หนึ่งในความหมายอันลึกซึ้งของสิ่งที่ไอน์สไตน์ค้นพบคือไม่มีมวลใดที่จะมีความเร็วเหนือแสง
แต่ก็ยังมีความรู้อีกอย่างหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าคิดว่าทุกคนจะต้องมี และต้องศึกษา นั่นก็คือ ความรู้ทางธรรม
ดังนั้นการแสวงหาความรู้ในทุก ๆ ด้าน จึงมีความจำเป็นมาก ความรู้ทางโลก ซึ่งก็คือความรู้ทั่วไปและความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นสามารถทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้ และหนทางที่จะทำให้การแสวงหาความรู้นั้นประสบกับผลสำเร็จได้นั้นก็คือ การแสวงหาความรู้ทั้งทางด้านศาสนาและสามัญควบคู่กันไป โดยไม่ละทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง