6/28/2552

ชาร์ลส์ แซนเดอรส์ เพิร์ซ : ผู้ให้กำเนิดปรัชญาปฏิบัตินิยม

วันนี้ขอพาทุกท่านไปรู้จักกับ ชาร์ลส์ แซนเดอรส์ เพิร์ซ (Charles Sanders Peirce) ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ผู้ให้กำเนิดปรัชญาปฏิบัตินิยม ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าปฏิบัตินิยมเป็นอย่างไร

ปฏิบัตินิยม (Pragmatism) คือ ทัศนะทางปรัชญาที่ให้ความสำคัญแก่ความรู้และความเป็นจริง สิ่งใดที่เรียกว่าจริงได้ต้องเป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์บรรลุจุดมุ่งหมายของชีวิตและช่วยพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น หรือเป็นประโยชน์ต่อชีวิต สิ่งนี้เรียกว่า “ประสบการณ์” (Experience) และประสบการณ์นี้ถึงจะเป็นจริงแต่ก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ไม่ตายตัว และให้ความสำคัญแก่ความรู้เชิงอุปนัย (Induction) คือ ความรู้ที่เกิดจากการสะสมข้อเท็จจริงที่ได้จากการมีประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาระยะหนึ่งด้วยนิสัยและความเคยชินว่าธรรมชาติจะต้องเหมือนเดิมเสมอ ซึ่ง นักปรัชญาลัทธิปฏิบัตินิยมคนสำคัญ มีดังนี้

  • เพิร์ซ (Charles S. Pierce) : ความคิดทางปรัชญาต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้
  • เจมส์ (William James) : ยืนยันความคิดของเพิร์ซว่าถูกต้อง และนำไปใช้ได้ผลจริง
  • ดิวอี้ (John Dewey) : ผู้ทดลองหาความคิดที่ดีที่สุดเพื่อปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้
  • สำหรับประวัติและผลงานของเพิร์ซมีดังนี้
    ชาร์ลส์ แซนเดอรส์ เพิร์ซ (ค.ศ.1839-1914) เป็นผู้ริเริ่มขบวนการเคลื่อนไหวแบบปฏิบัตินิยมในสหรัฐอเมริกา หรืออาจกล่าวได้ว่าเพิร์ซเป็น ผู้ให้กำเนิดปรัชญาปฏิบัตินิยม เพราะเป็นผู้นำคำว่า “ปฏิบัตินิยม” มาใช้ แต่ผู้ที่ทำให้คำนี้แพร่หลายและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในวงการปรัชญาและสาธารณชน คือ วิลเลียม เจมส์





    เพิร์ซเกิดที่แคมบริดจ์ รัฐแมสซาจูเซต เป็นบุตรชายคนที่สองของ เบนจามิน เพิร์ซ (Benjamin Peirce) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากที่เพิร์ซสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้รับปริญญาทางเคมี แต่การศึกษาอย่างแท้จริงของเขาส่วนใหญ่มาจากบิดา ซึ่งเป็นผู้กระตุ้นให้เพิร์ซสนใจการทดลองในห้องปฏิบัติการมาแต่เยาว์วัย และที่สำคัญยิ่งคือเป็นผู้สอนคณิตศาสตร์ให้ จึงอาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาทางปัญญาของเพิร์ซมีพื้นฐานมาจากคำสอนของบิดาของเขาเสียเป็นส่วนมาก

    ปี ค.ศ.1863 ได้รับปริญญาทางเคมีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
    ปี ค.ศ.1861-1891 เข้าร่วมเป็นคณะผู้ทำงานใน The United States Coastal and Geodesic Survey ได้ทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และปรัชญา และเริ่มต้นอ่านผลงานของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียง เช่น Critique of Pure Reason ของ คานต์
    ปี ค.ศ.1864-1865 เป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
    ปี ค.ศ.1869-1870 เป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
    ปี ค.ศ.1870-1871 เป็นผู้บรรยายวิชาตรรกวิทยา
    ปี ค.ศ.1879-1884 ได้สอนวิชาตรรกวิทยาที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ หลังจากนั้นไม่ได้กลับไปดำรงตำแหน่งทางวิชาการอีก จึงได้เรียบเรียงผลงานการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาที่ได้เริ่มทำไว้
    ปี ค.ศ.1905 เพิร์ซไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาทฤษฎีปฏิบัตินิยมของเจมส์ จึงเปลี่ยนชื่อทฤษฎีจาก pragmatism เป็น pragmaticism
    ปี ค.ศ.1931-1935 หลังจากที่เพิร์ซเสียชีวิตแล้ว งานชิ้นสำคัญของเขาได้รับการจัดพิมพ์ รวมทั้งหมด 8 เล่ม (volumes) ในชื่อว่า Collected Papers โดยศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ ฮาร์ตชอร์น (Charles Harshorne) และ พอล ไวสส์ (Paul Weiss) เป็นผู้เรียบเรียงตรวจสอบ 6 เล่มแรก
    ปี ค.ศ.1957 Collected Papers อีก 2 เล่มได้รับการจัดพิมพ์ โดยมีศาสตราจารย์ เอ ดับเบิลยู เบิร์ค (A. W. Burke) เป็นบรรณาธิการ

    ลัทธิปฎิบัตินิยมของ Peirce ได้รับอิทธิพลจากวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์

    เพิร์ซปฏิเสธทฤษฎีความสงสัยของ เดการ์ต ที่ว่า “เราควรเริ่มต้นจากการสงสัยทุกสิ่งทุกอย่าง จนกระทั่งในที่สุดเราจะพบว่ามีสิ่งหนึ่งที่เราสงสัยไม่ได้ นั่นคือ ความสงสัยที่เรามีอยู่” ซึ่งทำให้ เรอเน เดการ์ต สรุปว่า “ฉันสงสัย ฉันจึงมีอยู่” (I doubt, therefore I exist.) แต่เพิร์ซเห็นว่า ความสงสัยที่เดการ์ตเสนอนั้นมิใช่ความสงสัยที่แท้จริง เพราะความสงสัยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อมีประสบการณ์บางอย่างเกิดขัดแย้งกับความเชื่อเดิมของเรา และเมื่อเกิดความขัดแย้งกันขึ้น เราก็จะแสวงหาแนวทางต่างๆ มาขจัดสภาวะแห่งความขัดแย้งนั้นให้หมดไป
    เพิร์ซจึงเป็นผู้คิดสร้างทฤษฏีความสงสัยและความเชื่อ (The Doubt – Belief Theory) ทฤษฎีนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการหาความรู้ ซึ่งเพิร์ซเห็นว่าสิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องพัฒนานิสัยให้ เหมาะสมเพียงพอที่จะสนองความต้องการจำเป็นของตน ทั้งนี้
    เพื่อที่จะทำให้ตนเองมีชีวิตอยู่รอดได้ นิสัยเหล่านี้คือกฎเกณฑ์ที่ทำให้เกิดพฤติกรรม เพิร์ซเรียกนิสัยที่เรารับเข้ามาไว้ในตัวเราว่า ความเชื่อ (belief) การมีความเชื่อ คือ การรู้ว่าเราจะสนองความต้องการของเราได้อย่างไร ส่วนความสงสัย (doubt) เป็นสภาวะของการขาดความเชื่อ

    เพิร์ซเชื่อว่าเป้าหมายของการหาความรู้ คือ เพื่อกำหนดความคิดเห็นของตนให้แน่นอนหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเพื่อทำให้ความเชื่อมั่นคง ซึ่งการกำหนดความเชื่อให้มั่นคง เป็นวิธีทำให้ความเชื่อนั้นดำรงอยู่ได้ในระยะเวลานาน ในบทความเรื่อง “The Fixation of Belief” เพิร์ซได้อธิบายวิธีกำหนดความเชื่อให้มั่นคง 4 วิธี ดังนี้

    วิธีที่ 1 การยึดมั่นในหลักการใดหลักการหนึ่งอย่างฝังหัว (method of tenacity) เช่น หลักการที่ว่าตายแล้วจะได้ไปสวรรค์ การยึดมั่นแบบนี้จะมีข้อบกพร่องไม่นำไปสู่ความเชื่อที่คงทนและดำรงอยู่ได้ในช่วงเวลานาน
    วิธีที่ 2 การใช้อำนาจหรือประกาศิต (method of authority) วิธีนี้ปรากฏในคำสอนทางศาสนาและการเมือง
    วิธีที่ 3 วิธีการก่อนประสบการณ์ (a priori method) มีเหตุผลและน่าเชื่อกว่า 2 วิธีแรก
    แต่เพิร์ซก็เห็นว่าวิธีการแบบนี้เหมือนกับเรื่องของรสนิยมซึ่งเป็นไปตามสมัยนิยม
    วิธีที่ 4 วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (method of science) เป็นวิธีที่สามารถยุติความสงสัยที่ได้ผลดีที่สุด วิธีนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นจริงซึ่งอยู่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับความเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง
    นอกจากนี้เพิร์ซยังได้เสนอความคิดเรื่องทฤษฎีความหมายแบบปฏิบัติการ (the operationist theory ot meaning) ขึ้น ทฤษฎีนี้อธิบายวิธีทำให้ความคิดของคนเราแจ่มแจ้ง


    ลัทธิปฏิบัตินิยม (Pragmatism) กับการศึกษา
    ลัทธิปฏิบัตินิยมเป็นต้นตำหรับของการเรียนโดย “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” (Child center) ซึ่งเน้นความสำคัญของกิจกรรมมากกว่าการเรียนจากตำรา ลักษณะการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ

    แบบที่ 1 เรียนโดยผ่านทางกิจกรรม ปฏิเสธหรือต่อต้านการเรียนรู้โดยการเทหรือยัดเยียดความรู้ที่ใส่เข้ามาในตัวเด็กอย่างสิ้นเชิง
    แบบที่ 2 เรียนโดยการแก้ปัญหา (Problemsolving) ซึ่งส่วนใหญ่การเรียนการสอนจะมีลักษณะเป็นการสร้างโปรเจ็ค หรือ โครงการการเรียนการสอนแบบนี้จะทำให้เด็กเป็นคนรู้จักคิด อยากรู้อยากเห็นและแสดงออกในแนวคิดของตนเอง
    แบบที่ 3 เรียนโดยการอภิปรายถกเถียง (Discussion) เป็นการระดมความคิดแบบกลุ่ม การยอมรับฟังและยอมรับข้อเสนอแนะของผู้อื่น เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ฉลาดและมีคุณค่าสำหรับการมีชีวิตในสังคม และนอกจากนั้นยังสนับสนุนการเรียนนอกสถานที่ รวมไปถึงการท่องเที่ยวด้วย

    แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

    http://en.wikipedia.org/wiki/Charles_Sanders_Peirce

    www.m-ed.net/doc01/Pragmatism.doc

    http://www.swuaa.com/webnew/index.php?option=com_content&view=article&id=114:2009-02-24-06-24-29&catid=53:2009-02-24-06-10-59&Itemid=57

    www.cyberclass.msu.ac.th/cyberclass/cyberclass.../pp7.ppt

    ไม่มีความคิดเห็น: