6/28/2552

ปรัชญาประสบการณ์ตามแนวคิดของจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) สู่การจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์


แนวคิดของนักปรัชญาพวกประสบการณ์นิยม (Experimentalism) ซึ่งมีจอห์น ดิวอี้ เป็นผู้นำนักปราชญ์ผู้นี้มีความเชื่อว่าความอยู่รอดของสรรพสัตว์ (ซึ่งหมายถึงมนุษย์ด้วยนั้น) ย่อมขึ้นอยู่กับการปรับตัวของสิ่งนั้นๆ ความเชื่อนี้ได้มาจากชาร์ลส์ ดาวิน (Charles Darwin) เจ้าของทฤษฏีวิวัฒนาการซึ่งให้หลักไว้ว่าผู้ที่เหมาะสมที่สุดจะอยู่รอด (The Survival of the Fittest) ส่วนผู้ที่ไม่เหมาะสม ย่อมจะล้มหายตายจากไป จากความเป็นจริงข้อนี้ จอห์น ดิวอี้ จึงได้ยึดเอาเรื่อง “การปรับตัว” ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อมเป็นสรณะสำคัญ หรือเป็นแก่นแห่งการศึกษา จากแนวคิดเรื่องการปรับตัวนี้เอง จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) จึงเห็นค่ามนุษย์ย่อมมีปัญหาอยู่ตลอด ปัญหานั้นก็คือ การเผชิญต่อความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เป็นอยู่ทุกขณะนั่นเอง เมื่อมนุษย์ต้องพบปัญหาอยู่ตลอด การฝึกมนุษย์ให้แก้ปัญหาได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพราะจะช่วยให้ขจัดปัญหาที่มาขัดขวางการดำเนินชีวิตได้ และชีวิตนั้นก็จะอยู่รอดตลอดไป
“ประสบการณ์” ตามความคิดของจอห์น ดิวอี้ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ประสบการณ์ปฐมภูมิ (Primary experience) และ ประสบการณ์ทุติยภูมิ (Secondary experience)
ประสบการณ์ปฐมภูมิ คือ ประสบการณ์ที่ยังไม่เป็นความรู้ หรือยังไม่ได้มีการคิดไตร่ตรอง เป็นเพียงกระบวนการของการกระทำและการประสบความเปลี่ยนแปลงระหว่างอินทรีย์และสภาพแวดล้อม ส่วนประสบการณ์ทุติยภูมิ เป็นประสบการณ์ประเภทที่เป็นความรู้ คือได้ผ่านกระบวนการคิดไตร่ตรองมาแล้ว ประสบการณ์ปฐมภูมิจะเป็นเนื้อหาของประสบการณ์ทุติยภูมิ เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับคิดไตร่ตรอง ตัวอย่างเช่น เด็กเล่นซน ไปเหยียบถ่านไฟร้อน ๆ ผลปรากฏว่ามีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ คือ เท้าถูกไฟลวก เป็นประสบการณ์ปฐมภูมิ เมื่อเด็กเกิดการเรียนรู้จากผลของการเหยียบถ่านไฟร้อน ทำให้เกิดความเจ็บปวด และไม่อยากเล่นบริเวณที่มีถ่านไฟร้อนอีก หรือระแวงที่จะเล่นไฟ เป็นประสบการณ์ทุติยภูมิ ประสบการณ์ที่เกิดจากการคิดไตร่ตรอง (Reflective thought เรียกอีกอย่างว่าประสบการณ์การรู้ (Cognitive experience)
จอห์น ดิวอี้ มีความเห็นว่าการศึกษาที่ถูกต้อง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการศึกษาแบบเก่าหรือแบบจารีต (Traditional) หรือแบบอนุรักษ์ (Conservative) กับการศึกษาแบบใหม่หรือแบบก้าวหน้า (Progressive) เพียงระบบใดระบบหนึ่ง ปรัชญาของดิวอี้เป็นปรัชญาที่สะท้อนออกมาเด่นชัดในเรื่องการศึกษาที่ยกย่องประสบการณ์ทั้งปวงที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้สถานการณ์ที่เป็นจริง เพราะการศึกษาตามความคิดของจอห์น ดิวอี้ คือ ความเจริญงอกงามทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา และคุณธรรม ดังนั้นกระบวนการสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ที่ต่อเนื่องกับประสบการณ์เก่าไปเรื่อย ต้องส่งเสริมให้เกิดประสบการณ์ใหม่เพื่อเป็นวิถีนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจในปัจจุบันและอนาคตได้
การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริงเป็นการจัดกิจกรรมในลักษณะกลุ่มปฏิบัติการที่เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ตรงจากการเผชิญสถานการณ์จริงและการแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการกระทำ ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง ฝึกคิด ฝึกลงมือทำ ฝึกทักษะกระบวนการต่าง ๆ ฝึกการแก้ปัญหาด้วยตนเองและฝึกทักษะการเสาะแสวงหาความรู้ร่วมกันเป็นกลุ่ม ผู้เรียนได้เรียนรู้ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติตามแนวประชาธิปไตย กระบวนการเรียนรู้แบบแก้ปัญหา เป็นกิจกรรมการเรียนการสอนี่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อให้ผู้เรียนคิดเป็นและแก้ปัญหาเป็น โดยการนำวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ บางครั้งก็เรียนวิธีสอนนี้ว่าการสอนแบบวิทยาศาสตร์
ปัจจุบันการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการปฏิบัติจริง เป็นการเรียนรู้ในแบบ Learning by doing ผู้เรียนจะเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ แนวคิดนี้จะจัดการสอนแบบโครงการ (Project-based learning) เป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนได้เรียนจากการปฏิบัติจริง เป็นการเรียนจากประสบการณ์ตรง ผู้เรียนได้ทดลองทำปฏิบัติ เสาะหาข้อมูล จัดระเบียบข้อมูล พิจารณาหาข้อสรุป ค้นคว้าหาวิธีการ กระบวนการด้วยตนเอง หรือร่วมกันเป็นกลุ่ม เน้นให้ผู้เรียนมีอิสระในการศึกษาหาความรู้ตามหลักประชาธิปไตยให้ผู้เรียนได้รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น ให้ได้ค้นคว้าหาข้อมูลความรู้จากแหล่งต่าง ๆ มิใช่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น ทำให้ผู้เรียนเกิดนิสัยการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองได้ด้วยความมั่นใจ ผลการเรียนรู้ตามแนวทฤษฎีประสบการณ์ของจอห์น ดิวอี้ ดังนี้
1. ผู้เรียนมีความสุขกับการเรียนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานโดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย และสื่อที่เร้าความสนใจ
2. ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความสนใจ ตามความถนัดและศักยภาพด้วยการศึกษา ค้นคว้า ฝึกปฏิบัติฝึกทักษะจนถึงการเรียนรู้ด้วยตนเองทำให้เกิดความเชื่อมั่นเป็นแรงจูงใจให้เกิดการใฝ่รู้ ใฝ่เรียน
3. กิจกรรมกลุ่มช่วยเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ เกิดกระบวนการทำงาน เช่น มีการวางแผนการทำงาน มีความรับผิดชอบ เสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีวินัยในตนเอง มีพฤติกรรมที่เป็นประชาธิปไตย เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี รู้จักรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ผู้เรียนที่เรียนรู้ช้าจะเรียนรู้อย่างมีความสุข มีชีวิตชีวา ได้รับกำลังใจและได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อน ทำให้เกิดความมั่นใจ ผู้เรียนที่เรียนดีจะได้แสดงความสามารถของตนเอง มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และแบ่งปันสิ่งที่ดีให้แก่กัน
4. ผู้เรียนเกิดกระบวนการคิดจากการร่วมกิจกรรมและการค้นหาคำตอบจากประเด็นคำถามของผู้สอนและเพื่อน ๆ สามารถค้นหาคำตอบและวิธีการได้ด้วยตนเอง สามารถแสดงออกได้ชัดเจนมีเหตุผล
5. ทุกขั้นตอนการจัดกิจกรรม จะสอดแทรกคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อให้ผู้เรียนได้ซึมซับสิ่งที่ดีงามไว้ในตนเองอยู่ตลอดเวลา
6. คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลในการเรียนรู้และการปฏิบัติงาน โดยให้แต่ละคนเรียนรู้เต็มตามศักยภาพของตน ไม่นำผลงานของผู้เรียนมาเปรียบเทียบกัน มุ่งให้ผู้เรียนแข่งขันกับตนเองและไม่เล็งผลเลิศจนเกินไป
7. ผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน คือ ผู้เรียนเรียนอย่างมีความสุข เกิดการพัฒนารอบด้าน มีอิสระที่จะเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง และนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
เอกสารอ้างอิง
ประทุม อังกูรโรหิต.(2543).ปรัชญาปฏิบัตินิยม รากฐานปรัชญาการศึกษาในสังคมประชาธิปไตย.กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
http://www.wangnoi-nfe.com/index.files/Page1139.htm
http://www.wijai48.com/learning_stye/experince_learning/learningbydoing.htm

ชาร์ลส์ แซนเดอรส์ เพิร์ซ : ผู้ให้กำเนิดปรัชญาปฏิบัตินิยม

วันนี้ขอพาทุกท่านไปรู้จักกับ ชาร์ลส์ แซนเดอรส์ เพิร์ซ (Charles Sanders Peirce) ผู้ได้ชื่อว่าเป็น ผู้ให้กำเนิดปรัชญาปฏิบัตินิยม ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าปฏิบัตินิยมเป็นอย่างไร

ปฏิบัตินิยม (Pragmatism) คือ ทัศนะทางปรัชญาที่ให้ความสำคัญแก่ความรู้และความเป็นจริง สิ่งใดที่เรียกว่าจริงได้ต้องเป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์บรรลุจุดมุ่งหมายของชีวิตและช่วยพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น หรือเป็นประโยชน์ต่อชีวิต สิ่งนี้เรียกว่า “ประสบการณ์” (Experience) และประสบการณ์นี้ถึงจะเป็นจริงแต่ก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ไม่ตายตัว และให้ความสำคัญแก่ความรู้เชิงอุปนัย (Induction) คือ ความรู้ที่เกิดจากการสะสมข้อเท็จจริงที่ได้จากการมีประสบการณ์ทางประสาทสัมผัสต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาระยะหนึ่งด้วยนิสัยและความเคยชินว่าธรรมชาติจะต้องเหมือนเดิมเสมอ ซึ่ง นักปรัชญาลัทธิปฏิบัตินิยมคนสำคัญ มีดังนี้

  • เพิร์ซ (Charles S. Pierce) : ความคิดทางปรัชญาต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้
  • เจมส์ (William James) : ยืนยันความคิดของเพิร์ซว่าถูกต้อง และนำไปใช้ได้ผลจริง
  • ดิวอี้ (John Dewey) : ผู้ทดลองหาความคิดที่ดีที่สุดเพื่อปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้
  • สำหรับประวัติและผลงานของเพิร์ซมีดังนี้
    ชาร์ลส์ แซนเดอรส์ เพิร์ซ (ค.ศ.1839-1914) เป็นผู้ริเริ่มขบวนการเคลื่อนไหวแบบปฏิบัตินิยมในสหรัฐอเมริกา หรืออาจกล่าวได้ว่าเพิร์ซเป็น ผู้ให้กำเนิดปรัชญาปฏิบัตินิยม เพราะเป็นผู้นำคำว่า “ปฏิบัตินิยม” มาใช้ แต่ผู้ที่ทำให้คำนี้แพร่หลายและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในวงการปรัชญาและสาธารณชน คือ วิลเลียม เจมส์





    เพิร์ซเกิดที่แคมบริดจ์ รัฐแมสซาจูเซต เป็นบุตรชายคนที่สองของ เบนจามิน เพิร์ซ (Benjamin Peirce) ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หลังจากที่เพิร์ซสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และได้รับปริญญาทางเคมี แต่การศึกษาอย่างแท้จริงของเขาส่วนใหญ่มาจากบิดา ซึ่งเป็นผู้กระตุ้นให้เพิร์ซสนใจการทดลองในห้องปฏิบัติการมาแต่เยาว์วัย และที่สำคัญยิ่งคือเป็นผู้สอนคณิตศาสตร์ให้ จึงอาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาทางปัญญาของเพิร์ซมีพื้นฐานมาจากคำสอนของบิดาของเขาเสียเป็นส่วนมาก

    ปี ค.ศ.1863 ได้รับปริญญาทางเคมีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
    ปี ค.ศ.1861-1891 เข้าร่วมเป็นคณะผู้ทำงานใน The United States Coastal and Geodesic Survey ได้ทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และปรัชญา และเริ่มต้นอ่านผลงานของนักปรัชญาที่มีชื่อเสียง เช่น Critique of Pure Reason ของ คานต์
    ปี ค.ศ.1864-1865 เป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
    ปี ค.ศ.1869-1870 เป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
    ปี ค.ศ.1870-1871 เป็นผู้บรรยายวิชาตรรกวิทยา
    ปี ค.ศ.1879-1884 ได้สอนวิชาตรรกวิทยาที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ หลังจากนั้นไม่ได้กลับไปดำรงตำแหน่งทางวิชาการอีก จึงได้เรียบเรียงผลงานการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์และปรัชญาที่ได้เริ่มทำไว้
    ปี ค.ศ.1905 เพิร์ซไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาทฤษฎีปฏิบัตินิยมของเจมส์ จึงเปลี่ยนชื่อทฤษฎีจาก pragmatism เป็น pragmaticism
    ปี ค.ศ.1931-1935 หลังจากที่เพิร์ซเสียชีวิตแล้ว งานชิ้นสำคัญของเขาได้รับการจัดพิมพ์ รวมทั้งหมด 8 เล่ม (volumes) ในชื่อว่า Collected Papers โดยศาสตราจารย์ ชาร์ลส์ ฮาร์ตชอร์น (Charles Harshorne) และ พอล ไวสส์ (Paul Weiss) เป็นผู้เรียบเรียงตรวจสอบ 6 เล่มแรก
    ปี ค.ศ.1957 Collected Papers อีก 2 เล่มได้รับการจัดพิมพ์ โดยมีศาสตราจารย์ เอ ดับเบิลยู เบิร์ค (A. W. Burke) เป็นบรรณาธิการ

    ลัทธิปฎิบัตินิยมของ Peirce ได้รับอิทธิพลจากวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์

    เพิร์ซปฏิเสธทฤษฎีความสงสัยของ เดการ์ต ที่ว่า “เราควรเริ่มต้นจากการสงสัยทุกสิ่งทุกอย่าง จนกระทั่งในที่สุดเราจะพบว่ามีสิ่งหนึ่งที่เราสงสัยไม่ได้ นั่นคือ ความสงสัยที่เรามีอยู่” ซึ่งทำให้ เรอเน เดการ์ต สรุปว่า “ฉันสงสัย ฉันจึงมีอยู่” (I doubt, therefore I exist.) แต่เพิร์ซเห็นว่า ความสงสัยที่เดการ์ตเสนอนั้นมิใช่ความสงสัยที่แท้จริง เพราะความสงสัยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นเมื่อมีประสบการณ์บางอย่างเกิดขัดแย้งกับความเชื่อเดิมของเรา และเมื่อเกิดความขัดแย้งกันขึ้น เราก็จะแสวงหาแนวทางต่างๆ มาขจัดสภาวะแห่งความขัดแย้งนั้นให้หมดไป
    เพิร์ซจึงเป็นผู้คิดสร้างทฤษฏีความสงสัยและความเชื่อ (The Doubt – Belief Theory) ทฤษฎีนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้ในการหาความรู้ ซึ่งเพิร์ซเห็นว่าสิ่งมีชีวิตจำเป็นต้องพัฒนานิสัยให้ เหมาะสมเพียงพอที่จะสนองความต้องการจำเป็นของตน ทั้งนี้
    เพื่อที่จะทำให้ตนเองมีชีวิตอยู่รอดได้ นิสัยเหล่านี้คือกฎเกณฑ์ที่ทำให้เกิดพฤติกรรม เพิร์ซเรียกนิสัยที่เรารับเข้ามาไว้ในตัวเราว่า ความเชื่อ (belief) การมีความเชื่อ คือ การรู้ว่าเราจะสนองความต้องการของเราได้อย่างไร ส่วนความสงสัย (doubt) เป็นสภาวะของการขาดความเชื่อ

    เพิร์ซเชื่อว่าเป้าหมายของการหาความรู้ คือ เพื่อกำหนดความคิดเห็นของตนให้แน่นอนหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเพื่อทำให้ความเชื่อมั่นคง ซึ่งการกำหนดความเชื่อให้มั่นคง เป็นวิธีทำให้ความเชื่อนั้นดำรงอยู่ได้ในระยะเวลานาน ในบทความเรื่อง “The Fixation of Belief” เพิร์ซได้อธิบายวิธีกำหนดความเชื่อให้มั่นคง 4 วิธี ดังนี้

    วิธีที่ 1 การยึดมั่นในหลักการใดหลักการหนึ่งอย่างฝังหัว (method of tenacity) เช่น หลักการที่ว่าตายแล้วจะได้ไปสวรรค์ การยึดมั่นแบบนี้จะมีข้อบกพร่องไม่นำไปสู่ความเชื่อที่คงทนและดำรงอยู่ได้ในช่วงเวลานาน
    วิธีที่ 2 การใช้อำนาจหรือประกาศิต (method of authority) วิธีนี้ปรากฏในคำสอนทางศาสนาและการเมือง
    วิธีที่ 3 วิธีการก่อนประสบการณ์ (a priori method) มีเหตุผลและน่าเชื่อกว่า 2 วิธีแรก
    แต่เพิร์ซก็เห็นว่าวิธีการแบบนี้เหมือนกับเรื่องของรสนิยมซึ่งเป็นไปตามสมัยนิยม
    วิธีที่ 4 วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (method of science) เป็นวิธีที่สามารถยุติความสงสัยที่ได้ผลดีที่สุด วิธีนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นจริงซึ่งอยู่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับความเห็นของใครคนใดคนหนึ่ง
    นอกจากนี้เพิร์ซยังได้เสนอความคิดเรื่องทฤษฎีความหมายแบบปฏิบัติการ (the operationist theory ot meaning) ขึ้น ทฤษฎีนี้อธิบายวิธีทำให้ความคิดของคนเราแจ่มแจ้ง


    ลัทธิปฏิบัตินิยม (Pragmatism) กับการศึกษา
    ลัทธิปฏิบัตินิยมเป็นต้นตำหรับของการเรียนโดย “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” (Child center) ซึ่งเน้นความสำคัญของกิจกรรมมากกว่าการเรียนจากตำรา ลักษณะการเรียนการสอนแบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ

    แบบที่ 1 เรียนโดยผ่านทางกิจกรรม ปฏิเสธหรือต่อต้านการเรียนรู้โดยการเทหรือยัดเยียดความรู้ที่ใส่เข้ามาในตัวเด็กอย่างสิ้นเชิง
    แบบที่ 2 เรียนโดยการแก้ปัญหา (Problemsolving) ซึ่งส่วนใหญ่การเรียนการสอนจะมีลักษณะเป็นการสร้างโปรเจ็ค หรือ โครงการการเรียนการสอนแบบนี้จะทำให้เด็กเป็นคนรู้จักคิด อยากรู้อยากเห็นและแสดงออกในแนวคิดของตนเอง
    แบบที่ 3 เรียนโดยการอภิปรายถกเถียง (Discussion) เป็นการระดมความคิดแบบกลุ่ม การยอมรับฟังและยอมรับข้อเสนอแนะของผู้อื่น เป็นวิธีการเรียนรู้ที่ฉลาดและมีคุณค่าสำหรับการมีชีวิตในสังคม และนอกจากนั้นยังสนับสนุนการเรียนนอกสถานที่ รวมไปถึงการท่องเที่ยวด้วย

    แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม

    http://en.wikipedia.org/wiki/Charles_Sanders_Peirce

    www.m-ed.net/doc01/Pragmatism.doc

    http://www.swuaa.com/webnew/index.php?option=com_content&view=article&id=114:2009-02-24-06-24-29&catid=53:2009-02-24-06-10-59&Itemid=57

    www.cyberclass.msu.ac.th/cyberclass/cyberclass.../pp7.ppt

    6/27/2552

    วิลเลียม เจมส์ : นักคิดแห่ง ทฤษฎี ปฏิบัตินิยม



    "อย่าหวาดกลัวชีวิต จงเชื่อมั่นว่า ชีวิตมีค่าควรแก่การดำรงอยู่แล้ว ความเชื่อของคุณ จะช่วยให้เป็นจริงตามนั้น"

    เมื่อมนุษย์พยายามหาสิ่งอื่นทดแทนสิ่งเหนือธรรมชาติ จึงเกิดความขัดแย้งในทางความคิด


    ซึ่ง ณ จุดนี้เองทำให้ความคิดแบบวิทยาศาสตร์เริ่มเจริญขึ้น ความคิดแบบเทวนิยมค่อย ๆ เสื่อมลง


    จอห์น ดิวอี้ เชื่อว่า สิ่งเดียวที่มนุษย์สามารถทำได้คือ การเผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ


    และใช้สติปัญญาของตนจัดการ แกไขสถานการณ์นั้น เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าขึ้นมา


    ขณะเดียวกันเราไม่สามารถคาดหมายหรือทำนายว่าความสำเร็จในอนาคตนั้นจำเป็นต้องเกิดขึ้น


    วิลเลียม เจมส์ เชื่อว่า ความคิดทั้งหลายทางปรัชญาสามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่ให้ผลได้จริงในประสบการณ์ของเราในอนาคต


    คำว่า “เชิงปฏิบัติ (Pratical)” เขาหมายถึงสิ่งที่จับต้องได้ มีลักษณะเป็นสิ่งเฉพาะ และมีผลตามต้องการ


    จึงตรงข้ามกับสิ่งที่เป็นนามธรรม มีลักษณะทั่วไปและไม่ก่อผล



    “ทัศนะของเจมส์” ปรัชญามีหน้าที่ของตนเอง คือ การหาทางที่จะทำให้ความคิดของคนเราไป ด้วยกันได้


    ไม่ยึดมั่นในระบบใดระบบหนึ่งอย่างตายตัว



    ดังนั้นเราจึงมีทางเลือกเสมอไม่ว่าจะใช้ทฤษฏีใด
    นอกจากนี้เขายังเชื่อว่า
    ปฏิบัตินิยมเป็นวิธีที่ทำให้ความคิดแจ่มแจ้ง ซึ่งจะทำให้เราสามารถกำหนดรู้ ความหมายของความคิดนั้นได้



    โดยการทดลองนำความคิดนั้นมาปฏิบัติ และดูผลที่ เกิดขึ้นเป็นหลักสำคัญ


    ปฏิบัตินิยม คล้ายกับ ประสบการณ์นิยม คือ สนใจสิ่งที่ทดสอบได้ด้วยประสาทสัมผัส


    เน้นเรื่องข้อเท็จจริง มุ่งไปที่การกระทำ


    เปลี่ยนแปลงทัศนคติบางอย่างของปรัชญา คือ
    ลดความเป็นนักเหตุผลนิยมที่รุนแรงลง


    วิทยาศาสตร์และอภิปรัชญาเข้าใกล้กันมากขึ้น


    ทฤษฏีต่าง ๆ ที่อธิบายโลกและจักรวาลถูกนำมาใช้
    ไม่หยุดที่ทฤษฏีใดทฤษฏีหนึ่ง

    ให้ทฤษฏีทั้งหลายเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้เข้าใจโลกธรรมชาติ

    การนำปฏิบัตินิยมไปแก้ปัญหา
    1. มีกระบวนการพิสูจน์ ความจริง พิสูจน์ให้เห็นจริง สามารถอธิบายได้ และก่อให้เกิดผลหรือ ประโยชน์ในประสบการณ์ของเรา



    2. มีกระบวนการนำทาง ความคิดที่ผ่านกระบวนการพิสูจน์แล้ว จะต้องสามารถเชื่อมโยงไปอธิบายเรื่องอื่นได้

    ความรุ้ทางวิทยาศาสตร์เมื่อผ่านการพิสูจน์(ทดลอง)แล้ว สามารถใช้อธิบายเรื่องราว
    หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ได้

    ปฏิบัตินิยม หากเชื่อแล้ว ปรากฏว่ามีหลักฐานใหม่ หรือข้อพิสูจน์ใหม่

    ความเชื่อเหล่านั้นก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้

    วามรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน หากมีการค้นพ้นหลักฐาน หรือข้อพิสูจน์ใหม่ ๆ ความรู้นั้น ๆ ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน เช่น เมื่อก่อนเราเชื่อว่าโลกแบน แต่เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีการนำเสนอหลักฐานการค้นพบใหม่ ๆ ทำให้ความคิดที่ว่าโลกแบน เวลาเดินตรงไปเรื่อย ๆ อาจจะตกขอบโลก ถูกแทนที่ด้วยความรู้ใหม่ทีว่า โลกกลม

    เจมส์ มองโลกแบบพหุนิยม แต่ก็สามารถมองโลกในแง่ของความเป็นหนึ่งแบบปฏิบัตินิยม

    ความเชื่อ ความศรัทธา ทางศาสนา ก็ถือเป็นวิทยาศาสตร์ คือมีการตั้งสมมุติฐาน แต่สมมุติฐานในการศรัทธาสิ่งใดนั้น ต้องอาศัยการทดลองเป็นระยะเวลานาน ไม่สามารถอ้างเหตุผลทางตรรกะมาพิสูจน์ความจริงในศาสนาได้


    เจมส์ ยังคงยืนยันว่า ความหมายของ ความคิด ได้รับการค้นพบเพียง ในภาคของบทสรุปที่ เป็นไปได้เท่านั้น หากบทสรุปไม่เพียงพอ ความคิด ก็ไร้ความหมาย เจมส์ยืนยันว่า สิ่งนั้น เป็นวิธีที่ นักวิทยาศาสตร์ ใช้ในการนิยามหัวข้อ และ เพื่อทดสอบ สมมติฐานของ พวกเขา ซึ่ง อาจจะเป็น คำทำนาย ที่มีความหมาย และ ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

    เจมส์เชื่อในหลักปฏิบิตนิยมมากกว่า แต่เขาก็กล่าวว่า หลักการแบบปฏิบัตินิยมจะไม่สามารถปฏิเสธสมมุติฐานใด ๆ ได้


    ถ้าผลที่เกิดจากสมมุติฐานนั้น มีประโยชน์ที่จะทำให้ชีวิตดำเนินอยู่ต่อได้


    แหล่งข้อมูล http:// http://www.infoplease.com/

    6/26/2552

    ความรู้ทั่วไปต่างจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างไร

    Knowledge and Science

    หลายคนคงสงสัยและตั้งคำถามอย่างนี้มาบ้างแล้ว ในหมู่นักปรัชญาเองก็เช่นกัน มักจะตั้งคำถามทำนองนี้เพื่อฝึกลับสมองให้ได้คิดอยู่เสมอ..


    อาจารย์นักปรัชญาของพวกเรา (ขอเรียกอย่างนี้นะคะอาจารย์) ต้องการให้ลูกศิษย์ได้ฝึกลับสมองเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เลยหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาให้ลูกศิษย์ช่วยกันเขียน.. พออ่านที่เพื่อนสมาชิกท่านอื่นเขียนกันแล้ว ก็เริ่มเครียด..เพราะตัวเองยังนึกไม่ออกเลยว่าจะเขียนอะไรดี..ยังไงก็ฝากท่านผู้อ่านช่วยดูให้ด้วยนะคะ


    เมื่อถามว่าความรู้ทั่วไปแตกต่างจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างไรนั้น ก็ต้องบอกว่าเป็นคำถามที่ตอบยากและต้องใช้เวลาคิดนานพอสมควร ...จะว่าไปแล้วความรู้ทั้ง 2 อย่างนี้อาจจะมีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกันอยู่บ้าง ทั้งนี้เนื่องจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็จัดเป็นแขนงหนึ่งของความรู้ด้วยเช่นกัน.. และเมื่อลองศึกษาข้อมูลก็พบว่ามีหลายท่านได้ให้ความหมาย หรือคำจำกัดความของคำว่า “ความรู้ (Knowledge)” ไว้ดังนี้

    • พจนานุกรมทางการศึกษา (Carter V. Good 1973:325) ได้ให้ความหมายของ ความรู้ ว่า “ความรู้เป็นข้อเท็จจริง (Facts) ความจริง (Truth) กฎเกณฑ์และข้อมูลต่างๆที่มนุษย์ได้รับและรวบรวมสะสมไว้จากมวลประสบการณ์ต่างๆ
    • เธียรศรี วิวิธศิริ (2527:19-20) กล่าวว่า การเรียนรู้ในผู้ใหญ่เกิดจากการประสบการณ์ 3 ประการ คือ
      1. การเรียนรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ทางธรรมชาติ (NATURAL SETTING) คือ เรียนรู้จากสภาพธรรมชาติที่อยู่ใกล้ๆตัว
      2. การเรียนรู้จากประสบการณ์ทางสังคม (SOCIETY SETTING) มีอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ โทรทัศน์ เป็นต้น
      3. การเรียนรู้จากสภาพการณ์การของการจัดการเรียนการสอน (FORMAL INSTRUCTIONAL SETTING) คือมีผู้แทนจากสถาบันจัดระดับการเรียนรู้มีจุดหมายและต่อเนื่อง
    • เบนจามิน บลูม (Benjamin S. Bloom อ้างถึงในอักษร สวัสดี 2542, 26-28) ได้ให้ความหมายของ ความรู้ ว่าหมายถึง เรื่องที่เกี่ยวกับการระลึกถึงสิ่งเฉพาะ วิธีการและกระบวนการต่าง ๆ ของโครงการวัตถุประสงค์ในด้านความรู้ โดยเน้นในเรื่องของกระบวนการทางจิตวิทยาของความจำ อันเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการจัดระเบียบ โดยก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1965 บลูมและคณะ ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการรับรู้หรือพุทธิพิสัย (cognitive domain) ของคน ว่าประกอบด้วยความรู้ตามระดับต่าง ๆ รวม 6 ระดับ ซึ่งอาจพิจารณาจากระดับความรู้ในขั้นต่ำไปสู่ระดับของความรู้ในระดับที่สูงขึ้นไป โดยบลูมและคณะ ได้แจกแจงรายละเอียดของแต่ละระดับไว้ดังนี้
      1. ความรู้ (Knowledge) หมายถึง การเรียนรู้ที่เน้นถึงการจำและการระลึกได้ถึงความคิด วัตถุ และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นความจำที่เริ่มจากสิ่งง่าย ๆ ที่เป็นอิสระแก่กัน ไปจนถึงความจำในสิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนและมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน
      2. ความเข้าใจหรือความคิดรวบยอด (Comprehension) เป็นความสามารถทางสติปัญญาในการขยายความรู้ ความจำ ให้กว้างออกไปจากเดิมอย่างสมเหตุสมผล การแสดงพฤติกรรมเมื่อเผชิญกับสื่อความหมาย และความสามารถในการแปลความหมาย การสรุปหรือการขยายความสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
      3. การนำไปปรับใช้ (Application) เป็นความสามารถในการนำความรู้ (knowledge) ความเข้าใจหรือความคิดรวบยอด (comprehension) ในเรื่องใด ๆ ที่มีอยู่เดิม ไปแก้ไขปัญหาที่แปลกใหม่ของเรื่องนั้น โดยการใช้ความรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการกับความคิดรวบยอดมาผสมผสานกับความสามารถในการแปลความหมาย การสรุปหรือการขยายความสิ่งนั้น
      4. การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นความสามารถและทักษะที่สูงกว่าความเข้าใจ และการนำไปปรับใช้ โดยมีลักษณะเป็นการแยกแยะสิ่งที่จะพิจารณาออกเป็นส่วนย่อย ที่มีความสัมพันธ์กัน รวมทั้งการสืบค้นความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ เพื่อดูว่าส่วนประกอบปลีกย่อยนั้นสามารถเข้ากันได้หรือไม่ อันจะช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างแท้จริง
      5. การสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นความสามารถในการรวบรวมส่วนประกอบย่อย ๆ หรือส่วนใหญ่ ๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้เป็นเรื่องราวอันหนึ่งอันเดียวกัน การสังเคราะห์จะมีลักษณะของการเป็นกระบวนการรวบรวมเนื้อหาสาระของเรื่องต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างรูปแบบหรือโครงสร้างที่ยังไม่ชัดเจนขึ้นมาก่อน อันเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ภายในขอบเขตของสิ่งที่กำหนดให้
      6. การประเมินผล (Evaluation) เป็นความสามารถในการตัดสินเกี่ยวกับความคิด ค่านิยม ผลงาน คำตอบ วิธีการและเนื้อหาสาระเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง โดยมีการกำหนดเกณฑ์ (criteria) เป็นฐานในการพิจารณาตัดสิน

    จากความหมายดังกล่าว ความรู้ หมายถึง การรับรู้ข้อเท็จจริง (Facts) ความจริง (Truth) กฎเกณฑ์ และข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการศึกษา จากรายงาน ซึ่งพฤติกรรมเบื้องต้นที่ผู้เรียนสามารถจำได้ ระลึกได้โดยได้ยิน การมองเห็น การสังเกต หรือจากประสบการณ์ทางธรรมชาติ คือ เรียนรู้จากสภาพธรรมชาติที่อยู่ใกล้ๆตัว การเรียนรู้จากสังคม เช่น จากการอ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต หรือจากการเรียนการสอน คือ มีผู้แทนจากสถาบันจัดลำดับการเรียนรู้อย่างมีจุดหมายและต่อเนื่อง เป็นต้น

    ส่วนคำว่า วิทยาศาสตร์ ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "Science" ซึ่งมาจากศัพท์ภาษาลาตินว่า "Scientia" แปลว่า ความรู้ (Knowledge) ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลากหลายดังนี้

    • ผดุงยศ ดวงมาลา (2523 : 1) กล่าวว่า ถ้าจะให้นิยามความหมายของวิทยาศาสตร์ว่า "ความรู้" ตามความหมายที่แปลมาจากภาษาลาติน ดูเหมือนว่าจะมีความหมายที่สั้นและแคบจนเกินไป เพราะธรรมชาติหรือแก่นสารที่แท้จริงของวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้หมายถึงความรู้เนื้อหาวิทยาศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเจตคติทางวิทยาศาสตร์ด้วย ซึ่งหมายความว่าในการเรียนวิทยาศาสตร์นั้น ผู้เรียนจะต้องได้ทั้งตัวความรู้วิทยาศาสตร์ วิธีการ และเจตคติวิทยาศาสตร์ไปพร้อม ๆ กัน
    • ชำนาญ เชาวกีรติพงศ์. (2534 : 5) ได้ให้ความหมายของวิทยาศาสตร์ว่าหมายถึง ความรู้ที่แสดงหรือพิสูจน์ได้ว่าถูกต้องเป็นความจริง จัดไว้เป็นหมวดหมู่ มีระเบียบและขั้นตอน สรุปได้เป็นกฎเกณฑ์สากล เป็นความรู้ที่ได้มาโดยวิธีการที่เริ่มต้นด้วยการสังเกต และ/หรือ การจัดที่เป็นระเบียบมีขั้นตอน และปราศจากอคติ ซึ่งสอดคล้องกับการให้ความหมายของ The Columbia Encyclopedia (อ้างถึงใน สมจิต สวธนไพบูลย์ 2535 : 93) ซึ่งอธิบายว่า วิทยาศาสตร์ เป็นการรวบรวมความรู้อย่างมีระบบ ความรู้ที่ได้รวบรวมไว้นี้เป็นความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ความเจริญก้าวหน้าทาง วิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นนั้น มิได้หมายถึงเฉพาะการรวบรวมข้อเท็จจริงเพียงสภาพพลวัต หรือมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและตามสภาพการกระตุ้นจากภายในหรือจากสภาพภายนอก ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เกิดจากการสังเกตธรรมชาติและการวิเคราะห์วิจัย วิทยาศาสตร์จึงเป็นสากลเพราะเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยหลักการเดียวกัน วิทยาศาสตร์จึงไม่ถูกจำกัดด้วยเวลา สถานที่ และวัฒนธรรม
    • สุวัฒก์ นิยมค้า (2531 : 105-107) ได้รวบรวมทัศนะต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความหมายของวิทยาศาสตร์ จากนักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ไว้ดังนี้คือ
      1. แนช (Nash) นักเคมีกล่าวว่า วิทยาศาสตร์เป็นวิถีทางอย่างหนึ่งของการเข้าไปสำรวจโลก ซึ่งถือเป็นการมองวิทยาศาสตร์ในฐานะกระบวนการ

    2. วิกเนอร์ (Wigner) นักฟิสิกส์กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ คือ ความรู้ของ ปรากฎการณ์ธรรมชาติที่ได้สะสมไว้ ซึ่งถือเป็นการมองวิทยาศาสตร์ในฐานะตัวความรู้

    3. บูเบ้ (Bube) นักฟิสิกส์ กล่าวว่า วิทยาศาสตร์คือ ความรู้ของโลกธรรมชาติซึ่งได้มาโดยผ่านการปะทะสังสรรค์กับประสาทสัมผัส ซึ่งถือเป็นการมองวิทยาศาสตร์ในฐานะตัวความรู้กับกระบวนการ โดยเน้นว่า กระบวนการที่ขาดไม่ได้ คือ การสังเกต

    4. ฟิชเชอร์ (Fischer) คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและคณิตศาสตร์ วิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า วิทยาศาสตร์คือ องค์ของความรู้ ซึ่งได้มาโดยวิธีการวิทยาศาสตร์โดยอาศัยการสังเกตเป็นพื้นฐาน

    5. สแตฟฟอร์ด และคณะ (Stafford and others) นักการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ได้ให้ความหมายของวิทยาศาสตร์ไว้ 6 ประการ ดังนี้ คือ

    5.1 วิทยาศาสตร์ เกี่ยวข้องกับการมีประสบการณ์ตรงกับปรากฏการณ์ของธรรมชาติ (วัตถุและเหตุการณ์ที่แวดล้อมเราอยู่) แล้วมีการรวบรวมรายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับวัตถุและเหตุการณ์นั้น ๆ

    5.2 วิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับการจัดกระทำข้อมูลและการตีความหมายข้อมูลที่ได้

    5.3 วิทยาศาสตร์มีธรรมชาติเป็นคู่แฝด ด้านหนึ่งนั้นเป็นการสะสมความรู้ที่ได้ผ่านการทดลองแล้ว และอีกด้านหนึ่งจะเป็นวิธีการค้นหาความรู้

    5.4 วิทยาศาสตร์มีธรรมชาติที่ท้าทายความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์

    5.5 วิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับความพยายามที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หรืออธิบายกฎเกณฑ์ที่ได้จากปรากฏการณ์นั้น รวมทั้งการขยายความรู้ให้กว้างออกไปเลยจากประสบการณ์ที่ได้รับ

    5.6 ความรู้วิทยาศาสตร์ที่ได้รับเพิ่มนั้นมีลักษณะสืบต่อจากความรู้เก่าที่มีคนค้นพบไว้แล้ว นักวิทยาศาสตร์คนใหม่ จะอาศัยความรู้และความคิดของนักวิทยาศาสตร์คนก่อน ๆ เป็นบันไดก้าวไปหาความรู้ใหม่ต่อไป

    6. จาคอบสันและเบอร์กแมน (Jacobson & Bergman) ได้อธิบายธรรมชาติและโครงสร้างของวิทยาศาสตร์ว่า ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

    6.1 ส่วนที่เป็นความจริงพื้นฐาน ที่ไม่ต้องพิสูจน์ (assumptions in
    science)
    6.2 ส่วนที่เป็นวิธีการ และกระบวนการวิทยาศาสตร์ (methods and
    processes of science)

    6.3 ส่วนที่เป็นตัวความรู้ (broad generalizations of science)

    จากข้อมูลข้างต้น.. สามารถสรุปได้ว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่สามารถทดสอบได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วยการสังเกต การจดบันทึก การตั้งสมมติฐานโดยใช้หลักฐานทางปรัชญา และตรรกศาสตร์ แล้วพยายามตรวจสอบสมมติฐานโดยการวัดหรือหาค่าออกมาทั้งในด้านคุณค่า (นามธรรม) และปริมาณ (รูปธรรม) ถ้าจะเปรียบวิทยาศาสตร์เสมือนต้นไม้ใหญ่แล้วรากแก้วที่สำคัญ 3 ราก คือ วิชาปรัชญา ตรรกศาสตร์ และคณิตศาสตร์...

    ส่วนความรู้ทั่วไปนั้น ผู้เขียนเชื่อว่าความรู้เกือบทุกด้านต่างก็ต้องอาศัยพื้นฐานของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งวิธีการทางวิทยาศาสตร์อาจจะซุกซ่อนอยู่มากน้อยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับธรรมชาติของแต่ละเรื่อง บางเรื่องอาจจะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มรูปแบบ แต่บางเรื่องก็อาจจะได้มาไม่ครบตามระเบียบวิธีการก็ได้.. แล้วคุณผู้อ่านล่ะคะมีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง

    6/24/2552

    ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ VS ความรู้ทั่วไป


    ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ VS ความรู้ทั่วไป

    ตั้งหัวข้อซะน่ากลัว ..แต่จริง ๆ แล้วข้าพเจ้าแค่ต้องการนำเสนอความแตกต่างของความรู้ทั่วไป และความรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น


    เ บนจามิน บลูม (Benjamin S. Bloom ) ได้ให้ความหมายของ ความรู้ ว่าหมายถึง เรื่องที่เกี่ยวกับการระลึกถึงสิ่งเฉพาะ วิธีการและกระบวนการต่าง ๆ รวมถึงแบบกระสวนของโครงการวัตถุประสงค์ในด้านความรู้ โดยเน้นในเรื่องของกระบวนการทางจิตวิทยาของความจำ อันเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับการจัดระเบียบ

    ประภาเพ็ญ สุวรรณ ได้ให้คำอธิบายว่า ความรู้ เป็นพฤติกรรมขั้นต้นที่ผู้เรียนรู้เพียงแต่เกิดความจำได้ โดยอาจจะเป็นการนึกได้หรือโดยการมองเห็น ได้ยิน จำได้ ความรู้ในชั้นนี้ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับคำจำกัดความ ความหมาย ข้อเท็จจริง กฎเกณฑ์ โครงสร้างและวิธีแก้ไขปัญหา ส่วนความเข้าใจอาจแสดงออกมาในรูปของทักษะด้าน “การแปล” ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการเขียนบรรยายเกี่ยวกับข่าวสารนั้น ๆ โดยใช้คำพูดของตนเอง และ “การให้ความหมาย” ที่แสดงออกมาในรูปของความคิดเห็นและข้อสรุป รวมถึงความสามารถในการ “คาดคะเน” หรือการคาดหมายว่าจะเกิดอะไรขึ้น


    สำหรับตัวข้าพเจ้าเองเชื่อว่า ความรู้เป็นสิ่งที่ทุกคนมี ทุกคนรู้ และจะต้องรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นตื่นเช้ามา เราต้องล้างหน้า แปลงฟัน เพราะเรามีความรู้ เรารุ้ว่า ต้องมีการกำจัดเชื้อแบคทีเรียในปาก ต้องอาบน้ำเพื่อชำระล้างสิ่งสกปรก
    หากเราไม่มีความรู้ หรือไม่รู้อะไรเลย คงเป็นการยากที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมนี้ได้ เพราะความไม่รู้ จะทำให้เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย


    ความรู้ทั่ว ๆ ไป เป็นสิ่งที่เราต้องรู้โดยอาศัยการเรียนรู้ผ่าน กิจวัตรในชีวิตประจำวัน เป็นการลองผิดลองถูกประเภทหนึ่ง เช่นถ้าเราไม่ทำเช่นนั้น ก็จะไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม ไม่สามารถที่จะไปพูดคุยกับใครได้

    ............................

    ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ที่เกิดจากความสงสัย มนุษย์มองธรรมชาติ แล้วเกิดความสงสัย ต้องการที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้น จึงมีการศึกษา ค้นคว้า โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

    การค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งก็คือการเรียนรู้ และเข้าใจธรรมชาติ) ทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เราเห็นได้ว่าชีวิตเราเปลี่ยนแปลงจริง ๆ เช่น

    1. กฎการตกของวัตถุ (The Law of Falling Bodies) ค้นพบในปี 1604 กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) นักวิทยาศาสตร์ผู้หาญกล้าล้มแนวคิดของอริสโตเติล (Aristotel) ที่ผู้คนเชื่อถือมากว่า 2,000 ปี ว่าวัตถุที่หนักกว่าจะตกถึงพื้นได้เร็วกว่าวัตถุที่เบากว่า โดยเขาได้ทำการพิสูจน์ว่าวัตถุต่างๆ แม้จะมีน้ำหนักไม่เท่ากันแต่จะตกถึงพื้นพร้อมกัน




    2. สมการ E=mc2 ค้นพบในปี 1905 หรือกล่าวได้ว่าพลังงานเท่ากับความเร็วแสงยกกำลังสองที่ทวีคูณด้วยน้ำหนักของวัตถุเอง โดยสมการอันโด่งดังของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์นี้พิสูจน์ว่ามวลและพลังงานเป็นสิ่งที่แตกต่างอย่างชัดแจ้งในวัตถุเดียวกัน และมวลเล็กๆ สามารถผันกลับเป็นพลังงานปริมาณมหาศาลได้ หนึ่งในความหมายอันลึกซึ้งของสิ่งที่ไอน์สไตน์ค้นพบคือไม่มีมวลใดที่จะมีความเร็วเหนือแสง





    แต่ก็ยังมีความรู้อีกอย่างหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าคิดว่าทุกคนจะต้องมี และต้องศึกษา นั่นก็คือ ความรู้ทางธรรม
    เมื่อเราลองมองย้อนกลับมาดูสภาพสังคมในปัจจุบัน เราจะพบว่าเยาวชนบางคนกำลังแสวงแต่ความรู้ทางโลกเพียงอย่างเดียว โดยไม่เห็นความสำคัญของการแสวงหาความรู้ทางด้านศาสนาเลย พวกเราสนใจแค่การใช้ชีวิตอยู่ไปวัน ๆ แต่พวกเราลืมไปว่าเสบียงที่จะทำให้เรามีความสุขจริง ๆ นั้น คือ ความรู้ทางธรรม และการเข้าใจชีวิต


    ดังนั้นการแสวงหาความรู้ในทุก ๆ ด้าน จึงมีความจำเป็นมาก ความรู้ทางโลก ซึ่งก็คือความรู้ทั่วไปและความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นสามารถทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตได้ และหนทางที่จะทำให้การแสวงหาความรู้นั้นประสบกับผลสำเร็จได้นั้นก็คือ การแสวงหาความรู้ทั้งทางด้านศาสนาและสามัญควบคู่กันไป โดยไม่ละทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
    ......................................................................................................................................





    แหล่งความรู้เพิ่มเติม





    6/23/2552

    ความรู้ทั่วไปแตกต่างจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างไร


    ความรู้ทั่วไป (มาจากหลายแนวคิด รวบรวมจากหลายแห่งที่ใคร ๆ ก็เขียนบอกกัน)

    ความรู้ คือ แสงประทีปแห่งปัญญา
    ความรู้ คือทุกอย่าง
    ความรู้ คืออำนาจ
    ความรู้ คือ กุญแจสู่อนาคตที่ดี
    ความรู้ คือ ความจริง ที่มีอยู่รอบๆตัวเรา ซึ่งยังคงรอการค้นพบ และพิสูจน์ จากพวกเราทุกคน
    ความรู้ คือ ความไม่รู้ เพราะไม่รู้ จึงพยายามจะรู้ เมื่อรู้ ก็จะรู้ว่าแท้จริงแล้วเราไม่ได้รู้อะไรเลย
    จึงต้องพยายามหาความรู้ต่อไป เพื่อจะได้รู้
    ความรู้ คือ สิ่งที่สะสมมาจากประสบการณ์ เป็นผลลัพธ์ที่ได้มาจากการ ฟัง พูด อ่าน เขียน คิด..
    ความรู้ คือ อะไรไม่สำคัญ เท่าความรู้ที่ทำให้คุณอิ่มปากอิ่มท้องอย่างไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น
    ความรู้ คือ เรื่องที่เราเพิ่งรู้
    ความรู้ คือ ทุกสิ่ง ทุกอย่างที่เรารู้ไม่จำเป็นต้องถูกหรือผิด
    ความรู้ คือ ข้อมูลสารสนเทศผสมผสานกับประสบการณ์ ความรอบรู้ในบริบท การแปลความหมายและการแสดงความคิดเห็น

    ความรู้ แยกเป็น 2 ประเภท
    1. ความรู้ที่ปรากฎชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่สามารถเขียนหรืออธิบายออกมาเป็นตัวอักษร ฟังก์ชั่นหรือสมการได้ (อยู่ในตำรา เอกสาร วารสาร คู่มือ คำอธิบาย วีซีดี คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ฐานข้อมูล)
    2. ความรู้ที่ไม่ปรากฎชัดแจ้ง (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ไม่สามารถเขียนหรืออธิบาย
    ได้ การถ่ายโอนความรู้ประเภทนี้ทำได้ยาก จำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้จากการกระทำ ฝึกฝน (อยู่ในสมองคน เชื่อมโยงกับประสบการณ์ ความเชื่อ ค่านิยม ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาได้ทั้งหมด)
    * แต่ยังมีความรู้อีกประเภทหนึ่งที่สำคัญ เรียกว่าความรู้ประเภทที่ 3 เป็นความรู้ที่ฝังอยู่ในวิธีปฏิบัติงาน วัฒนธรรม ข้อตกลง กฎกติกา คู่มือ ขององค์กรฝังอยู่ในผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต
    ความรู้สำคัญอย่างไร
    1. ความรู้ทำให้คนเรามีค่ามากขึ้น
    2. ความรู้ทำให้สินค้ามีค่ามากขึ้น
    3. ความรู้ทำให้บริการมีค่ามากขึ้น
    4. ความรู้ทำให้คนเราเปลี่ยนพฤติกรรม
    5. ความรู้ทำให้คนเราทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนได้
    6. ความรู้ทำให้คนเรามีมุมมองใหม่
    สำหรับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คือ ความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ และกระบวนการค้นคว้าหาความรู้ที่มีขั้นตอนมีระเบียบแบบแผน
    ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ต้องประกอบด้วย ความรู้ หรือความรู้ทั่วไปและกระบวนการที่ทำให้เกิดความรู้ ซึ่งกระบวนการนี้คือ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (Process of Science) เป็นกระบวนการที่ใช้ค้นคว้าหาองค์ความรู้ ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความคิดและความเชื่อทางปรัชญา ความคิด ความเชื่อ และปัญหาทางปรัชญาต่าง ๆ ที่สืบทอดกันมายังไม่ได้รับการทดลอง ทดสอบ แก้ปัญหา ยังไม่มีการยืนยันว่าเป็นข้อเท็จจริงตลอดทั้งความขัดแย้งระหว่างความคิดเก่ากับหลักฐานที่พบใหม่ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นแหล่งสร้างความสนใจ และสร้างปัญหาขึ้นในจิตใจของผู้ใฝ่หาข้อเท็จจริงในธรรมชาติ ผลงานของผู้สนใจเหล่านี้ได้ค่อย ๆ เปลี่ยนลักษณะความคิด ความเชื่อ ที่ลึกลับซับซ้อน เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนทั้งหลาย มาเป็นระบบความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากความคิด ความเชื่อ และปัญหาทางปรัชญาของคนรุ่นก่อน ๆ
    วิทยาศาสตร์ (Sciences) คือ ความรู้ที่มนุษย์ได้มาจากการศึกษาปรากฏการณ์ธรรมชาติโดยการใช้วิธีอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนผ่านการสังเกตทดลองอย่างเป็นรูปธรรมเป็นความรู้ที่คาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำและเมื่อนำไปจัดการกับวัตถุสิ่งของเรื่องทางกายภาพแล้วมีประสิทธิภาพเป็นความรู้สากลเพราะสามารถพิสูจน์ได้และเป็นเครื่องมือของมนุษย์ในการศึกษาเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับปรากฏการธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพของมนุษย์และกลายเป็นเทคโนโลยี
    วิทยาศาสตร์ หมายถึง ความรู้ตั้งอยู่บนเหตุผลสามารถพิสูจน์ได้
    วิทยาศาสตร์ คือ ความรู้ที่แน่นอน รัดกุม และเป็นระบบระเบียบมีหน้าที่ในการบรรยายข้อมูลของประสบการณ์อย่างสมบูรณ์และกลมกลืนกันด้วยถ้อยคำที่ง่ายที่สุด
    จะอย่างไร ปัจจุบันความรู้แบบวิทยาศาสตร์ไม่ได้มีเพียงความรู้ในรูปที่เป็นกฎเท่านั้น หากแต่ยังมีความรู้ส่วนที่มีลักษณะเป็นการคาดคะเนธรรมชาติที่เรียกว่าทฤษฎีด้วย นักวิทยาศาสตร์บางส่วนเริ่มรู้สึกว่าการที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มที่จะใช้การคาดคะเนมากยิ่งขึ้นในงานทางวิทยาศาสตร์นั้นจะเป็นการย้อนกลับไปหาสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นแรกๆเช่นกาลิเลโอหรือแม้แต่นิวตันได้พยายามที่จะหลีกเลี่ยง เพราะไม่เช่นนั้นกิจกรรมที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์จะไม่สามารถก่อกำเนิดได้ วิชาปรัชญานั้นใช้จินตนาการ เหตุผล และการคาดคะเนเพื่อแสวงหาความรู้ วิทยาศาสตร์ต่างจากปรัชญาตรงที่วิทยาศาสตร์ใช้ประสาทสัมผัสเป็นแหล่งอ้างอิงหลักของความรู้ เมื่อใดก็ตามที่วิทยาศาสตร์ใช้อะไรเกินไปกว่านั้น เมื่อนั้นวิทยาศาสตร์จะค่อยๆสูญเสียลักษณะเฉพาะของตนเอง
    วิทยาศาสตร์ในความหมายของการแสวงหาความรู้ที่อิงกับประสบการณ์
    ความรู้ในวิทยาศาสตร์อาจสรุปได้ ๓ ลักษณะ
    ๑. ความรู้ในวิทยาศาสตร์ได้จากประสบการณ์และการทดสอบด้วยประสบการณ์ เพราะวิทยาศาสตร์ใช้วิธีการความรู้ทางอุปมัย (Induction) โดยอาศัยอายตนะสัมผัส คือตา หู จมูก ลิ้น กายความเชื่ออะไรก็ตามที่ไม่อาจจะรู้จักได้ด้วยประสาทสัมผัสเหล่านี้ถือว่าอยู่นอกเขตของวิทยาศาสตร์
    ๒. ความรู้ในวิทยาศาสตร์เป็นสาธารณะและสากลกล่าวคือเมื่อเราพบข้อเท็จจริงอันหนึ่งแล้วเราย่อมสามารถอธิบายให้คนอื่นฟังได้รวมทั้งสามารถแสดงหรือทดลองให้คนอื่นเห็นได้ความรู้อย่างนี้เป็นสาธารณะ ดังนั้น ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จึงสามารถอธิบายให้คนอื่นที่อยู่ในเงื่อนไขเดียวกันเข้าใจได้และมีลักษณะสากล เช่น ความรู้ว่า “วัตถุทุกอันมีความหนาแน่นกว่าอากาศย่อมตกลงสู่พื้นเพราะแรงดึงดูดของโลก” ซึ่งเป็นการรวมถึงทุกสิ่งที่หนักกว่าอากาศเหล็กก็เป็นสิ่งหนึ่งในบรรดาสิ่งเหล่านั้น
    ๓. ความรู้ในวิทยาศาสตร์มีลักษณะเป็นเงื่อนไขสามารถคาดหมายอนาคตได้ คือ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะสลับซับซ้อนอย่างไร แค่ไหนก็มีหลักฐานอยู่ว่า “สิ่งๆนี้ถ้าอยู่ภายใต้เงื่อนไขนั้น อะไรจะเกิดขึ้นกับมัน” เพราะวิธีอุปนัยเป็นวิธีการก้าวกระโดดจากบางสิ่งไปสู่ทุกสิ่งและเป็นการกระโดดจากอดีตไปสู่อนาคตและเพราะหลักฐานที่เราได้จากประสบการณ์ในอดีตทำให้เราสรุปได้ว่าในอนาคตมันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้

    ความรู้ในทางวิทยศาสตร์นอกจากจะใช้ในการควบคุมดูแลสร้างสรรค์สิ่งที่เรียกธรรมชาติรอบตัวมนุษย์แล้วนำมา “ จัดการ” กับความสัมพันธ์ของคนที่มีต่อกันในสังคมในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคมรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นชุมชน พฤติกรรมในแง่มุมต่างๆ เช่น การผลิต การแลกเปลี่ยน ที่เรียกว่าเชิงเศรษฐกิจ ด้านความมีระเบียบวินัยที่เรียกว่า นิติศาสตร์ ด้านบริหารว่าทำอย่างไรสังคมจึงหมุนไปสู่อุดมคติอย่างกลมกลืน และปลอดภัยทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ ด้านการศึกษา อบรม การถ่ายทอด และด้านสุขอนามัย เป็นต้น ยิ่งนับว่าจะทวีคูณความสลับซับซ้อนทับถมมนุษย์ไม่สามารถจะเข้าใจพฤติกรรม หรือแง่มุมเหล่านั้นได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์จำเป็นต้องอาศัยวิธีการวิทยศาสตร์เป็นเครื่อง “กรอบ” แยกแยะให้มนุษย์รู้จักบทบาทและหน้าที่ของตนเองและสังคม

    อ้างอิง
    http://www1.mod.go.th/opsd/km/inf/know.html
    http://sanookpradesh.wordpress.com
    http://www.mcusurat.org/class%203/budhismandsciene.doc

    6/20/2552

    ธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์

    การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ นั้นเป็นความพยายามที่ต้องการให้เข้าใจธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง โดยพยายามที่จะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และสิ่งที่เป็นอยู่ว่ามีที่ไปที่มาอย่างไร ตลอดจนพยายามหาว่าต่อไปในอนาคตจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่เราเรียกว่าทฤษฎีที่พยายามจะอธิบายและพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่กำหนด จากความพยายามอันเกิดจากความอยากรู้อยากเห็น พยายามหาคำตอบที่สงสัย ทำให้มนุษย์ได้ค้นพบหลัก กฏเกณฑ์ของธรรมชาติที่ทำให้ จักรวาลหรือโลกเราดำรงอยู่ได้ในปัจจุบัน ยิ่งมนุษย์เข้าใจกฏเกณฑ์ทางธรรมชาติมากเท่าใดก็จะช่วยให้มนุษย์นั้นควบคุมที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติสอดคล้องผสมกลมกลืนได้มากเท่านั้น เพราะมนุษย์เมื่อรู้ธรรมชาติที่แท้จริงได้มากเท่าใดก็จะสามารถพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเม่นยำ

    ในความพยายามของมนุษย์ ต้องการให้ทราบว่าการกระทำใดส่งผลให้เกิดอะไร ซึ่งทำให้มนุษย์จะต้องควบคุมการกระทำของตนเองมากขึ้นในแนวทางที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อธรรมชาติ และมนุษย์เองก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งก็คือเกิดความเสียหายแก่มนุษย์ด้วย อย่างไรก็ตามมีหลายอย่างที่มนุษย์ยังศึกษาไปไม่ถึง หรือยังหาคำตอบไม่ได้ หรือหาคำอธิบายเพิ่มเติมไม่ได้ก็ มักจะตอบว่าธรรมชาติเป็นเช่นนั่นเอง หรือสั้นๆ ว่าเป็นเช่นนั้นเอง หรือเป็นที่มันเป็น แต่ถ้าศึกษาเรียนรู้ต่อไปเราก็จะเข้าใจธรรมชาติส่วนนั้นเพิ่มขึ้นอีก ทำให้บางคนอาจเข้าใจว่าอะไรที่เราศึกษาเข้าใจกระบวนการ เข้าใจกลไกแล้วว่าเป็นเหมือนไม่ใช่ธรรมชาติ แต่ที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจว่ายังคงเป็นธรรมชาติ

    สิ่งที่อาจทำให้สับสนระหว่างธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์ ก็คืออะไรที่มนุษย์ทำขึ้น ประดิษฐ์ขึ้น ทุกอย่างก็ล้วนมาจากธรรมชาติ แต่ได้อาศัยหลักการธรรมชาติ หรือเลียนแบบธรรมชาติมาผลิตเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งมองในแง่นี้ก็มักจะเข้าใจว่าไม่ใช่ธรรมชาติ หรืออะไรที่มนุษย์ทำขึ้นมาแล้วไม่ใช่ธรรมชาติ ที่อาจส่งผลทำให้คิดเลยไปว่าสิ่งที่ยังไม่เข้าใจเป็นอำนาจลึกลับ ของภูตผีปีศาจได้ ในความเป็นจริงนั้นวิทยาศาสตร์พยายามที่จะค้นหาความจริงของธรรมชาติทั้งหลาย หรือรู้ระเบียบของธรรมชาติ โดยต้องมีกระบวนการแสวงหาระเบียบและความจริงเหล่านั้น อันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปที่จะเป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และ ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องอยู่เสมอ จนกล่าวได้ว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีความเป็นสากลอยู่ในตัว

    6/19/2552

    ความรู้ที่แท้จริงเกิดจากการปฏิบัติ ความรู้ที่ดีที่สุดเกิดจากประสบการณ์

    ความรู้ที่แท้จริงเกิดจากการปฏิบัติ ….ความรู้ที่ดีที่สุดเกิดจากประสบการณ์

    ความรู้ ความรู้ ความรู้ คืออะไร........................
    ตั้งแต่เราจำความได้จนถึงปัจจุบัน ข้าพเจ้าเชื่อว่า ข้าพเจ้ามีความรู้มากมาย
    แต่ความรู้เหล่านั้น ข้าพเจ้าได้มาอย่างไรล่ะ
    แล้วการที่เราจะได้รับความรู้ที่แท้จริง หรือความรู้ที่ดีที่สุด ความรู้เหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

    ความรู้ คือ
    ความเข้าใจในเรื่องบางเรื่อง หรือสิ่งบางสิ่ง ซึ่งอาจจะรวมไปถึงความสามารถในการนำสิ่งนั้นไปใช้เพื่อเป้าหมายบางประการ
    ความรู้คือ สิ่งที่มนุษย์สร้าง ผลิต ความคิด ความเชื่อ ความจริง ความหมาย โดยใช้ ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น ตรรกะ แสดงผ่านภาษา เครื่องหมาย
    และสื่อต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์เป็นไปตามผู้สร้าง ผู้ผลิตจะให้ความหมาย
    ความรู้มีโครงสร้างอยู่ 2 ระดับ คือ โครงสร้างส่วนบนของความรู้ ได้แก่ Idea ปรัชญา หลักการ อุดมการณ์ โครงสร้างส่วนล่างของความรู้ ได้แก่ ภาคปฏิบัติการของความรู้ ได้แก่องค์ความรู้ที่แสดงในรูปของ ข้อเขียน สัญญะ การแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น
    ศิลปะ การเดินขบวนทางการเมือง โครงสร้างส่วนล่างของความรู้ มีโครงสร้างระดับลึกคือ ความหมาย (significant)
    ไอน์สไตน์ เคยพูดว่าประสบการณ์คือความรู้ที่แท้จริง (experience is real knowledge)
    ทำไมไอน์สไตย์จึงกล่าวเช่นนี้นั้น........... เพราะไอนสไตน์ได้คิดค้นทฤษฎีหลายอย่างโดยอาศัยคณิตศาสตร์ล้วนไม่ได้เริ่มจากการทดลองปฏิบัติ แต่สิ่งที่ไอน์สไตน์ได้คิดไว้ มีผู้นำไปใช้หรือพิสูจน์ให้เห็นจริงภายหลัง
    ที่เห็นได้ชัดคือทฤษฎีสัมพันธภาพที่ไอนสไตน์สามารถที่จะพัฒนาสูตรการเปลี่ยนกลับไปมาระหว่างสสารกับพลังงานตามสมการ E = m c2
    เป็นสูตรที่ใช้คำนวณหาพลังงานจากสสาร แต่คนที่นำสูตรนี้ไปใช้ในทางปฏิบัติไม่ใช่ไอนสไตย์
    เช่นการทำให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์ปรมาณูสำเร็จเป็นครั้งแรกโดยเอนริโก เฟอร์มิ
    และต่อมาก็มีผู้นำไปประยุกต์ใช้สร้างระเบิดนิวเคลียร์
    จะเห็นว่าการนำไปใช้ในทางปฏิบัตินั้นเป็นความรู้ที่แท้จริง เพราะสามารถพิสูจน์ยืนยันการค้นพบทางทฤษฎี และนำไปใช้ได้จริง

    นักเรียนพิการเรียนร่วมโรงเรียนบสันติราษฏร์วิทยาลัย

    ในสมัยที่ข้าพเจ้าเป็นนักศึกษาฝึกสอน โรงเรียนสันติราษฏร์วิทยาลัย ข้าพเจ้ามีโอกาสได้สอนนักเรียนที่มีความพิการด้านสายตา

    ความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ที่เขาได้รับนั้น เกิดจากการที่เราบอก หรือเล่าให้เขาฟัง เป็นส่วนใหญ่

    ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่า เขาไม่มีโอกาสได้รับทั้งความรู้ที่แท้จริง เพราะขาดทักษะในการปฏิบัติ และไม่สามารถมองเห็นได้

    ทำให้ขาดการเรียนรู้และการรับความรู้จากการมองเห็น

    แต่ก็มีเหมือนกันที่บางครั้งนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น สามารทำคะแนนการสอบวิชาต่าง ๆ ได้ดีกว่านักเรียนที่พร้อมทุกอย่าง เพราะว่านักเรียนเหล่านี้ มีความพยายาม เมื่อเห็นว่าตัวเองไม่พร้อมเท่าไหร่ ก็จะมีความพยายามมากเท่านั้น

    แต่ข้าพเจ้าก็เชื่อว่า เขาสามารถได้รับความรู้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่ทำให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เขาสามารถเดินได้ทั่วทั้งบริเวณโรงเรียน เพราะเขาได้ลองเดิน ลองปฏิบัติหลายรอบแล้วทำให้เขามีความชำนาญ รู้ว่าเส้นทางไหนเดินได้ ปลอดภัย ทางไหนไม่ปลอดภัย


    ข้าพเจ้าคิดว่าความรู้ที่เราเรียนและได้รับอยู่ทุกวันนี้เป็นความรู้ที่แท้จริง เพราะมีคนศึกษาหรือค้นพบไว้แล้ว เราแค่นำมาปฏิบัติ ทดสอบ ทดลอง และทำความเข้าใจกับความรู้นั้น ๆ และเผยแพร่ต่อไป โดยการสอนนักเรียนของเรา แต่ความรู้ที่ดีที่สุดจะต้องเป็นความรู้ที่เกิดจากการใช้ประสบการณ์ของเราเอง คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์จนเกิดเป็นความรู้ หรือเป็นแนวคิดใหม่ ๆ ที่เราเองสามารถนำมาใช้ในชีวิตของเราเอง


    แหล่งความรู้เพิ่มเติม
    http://www.nstlearning.com/blog/?p=228

    6/18/2552

    ความรู้ที่แท้จริง..คืออะไร

    วันนี้ตอนเช้ามีเรียนวิชาปรัชญาและวิสัยทัศน์ทางวิทยาศาสตร์..อาจารย์ให้หัวข้อมา..ให้พวกเรา 3 คนช่วยกันเขียน แค่ได้ยินหัวข้อก็หนาวแล้วล่ะ..

    "ความรู้ที่แท้จริงเกิดจากการปฏิบัติ.. ส่วนความรู้ที่ดีที่สุดเกิดจากประสบการณ์"

    จะว่าไปแล้วความรู้และความไม่รู้นั้นเป็นของคู่กัน.. ในโลกนี้มีทั้งสิ่งที่เรารู้แล้วและสิ่งที่ยังไม่รู้ แต่สิ่งที่เรารู้หรือเรียกว่า "ความรู้" นั้นจะใช่ความรู้ที่แท้จริงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่า ความรู้นั้นเกิดขึ้นจากเราจริงๆหรือเปล่า และเราสามารถถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้ผู้อื่นได้หรือไม่...
    มีนักปรัชญาหลายท่าน ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ไว้ดังนี้
    จอห์น ลัค (John Locke) ผู้ก่อตั้งลัทธิประสบการณ์นิยมสมัยใหม่ พบว่าความรู้น่าจะเริ่มต้นจากประสบการณ์ (All knowledge comes from experince)
    วอลแตร์ (Voltaire) ชาวฝรั่งเศส ผู้โด่งดังจากขบวนการพุทธิปัญญา เผยแพร่หลักการว่า เราเชื่อได้เฉพาะประสบการณ์และความจริงที่พิสูจน์ได้จากประสบการณ์เท่านั้น
    ฮิวม์ (David Hume) นักประสบการณ์นิยม เห็นด้วยกับหลักการของ Luck ได้แถลงหลักการใหม่ ดังนี้
    1) All knowledge is analyzed into ideas. (ความรู้ทั้งหมดวิเคราะห์ออกได้เป็นมโนคติ)
    2) All ideas come from experience. (มโนคติทั้งหมดได้มาจากประสบการณ์)
    3) All experience come by way of the senses.(ประสบการณ์ทั้งหมดผ่านมาทางประสาทสัมผัส)

    เมื่ออ่านแนวคิดของฝรั่งดูแล้วก็อาจจะยังงงๆ อยู่บ้าง แต่ถ้ามองให้ลึกก็จะเห็นว่าแนวคิดดังกล่าวก็คล้ายกับแนวคิดของไทยเราเช่นกัน ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า "สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือทำ สิบมือทำไม่เท่าทำเอง" ซึ่งสำนวนนี้ก็หมายถึง การได้ลงมือทำอะไรด้วยตนเอง ทำให้เราได้ความรู้ที่แท้จริง.. หรืออีกสำนวนหนึ่ง "อาบน้ำร้อนมาก่อน" ซึ่งหมายความว่า คนที่อยู่มาก่อนย่อมจะเห็นอะไรมามากกว่า หรือมีประสบการณ์มากกว่านั่นเอง.. เนื่องจากผู้เขียนเองก็เพิ่งจะอาบน้ำร้อนมาไม่นานนัก แต่เคยได้ยินผู้ใหญ่พูดถึงบ่อย ๆ เวลาจะให้เด็กยอมเชื่อฟัง บังเอิญได้เจอสถานการณ์มากับตัวเองเลยได้รู้ถึงความนัยที่ชัดเจนของ คำว่า อาบน้ำร้อนมาก่อน.. น้องสาวซื้อสับปะรดมา 1 ผล กะว่าจะเอาไว้แกงส้ม ก็เลยเลือกลูกที่ดูแกร็นๆ หน่อย คาดว่าต้องเปรี้ยวแน่ๆ แต่พอพ่อมาเห็นเข้าเท่านั้นแหละ ก็บอกว่านั่นมันสับปะรดหวาน พวกลูกๆ ก็งงกันใหญ่ พ่อรู้ได้ยังไง บอกได้ทั้งที่ยังไม่ได้ปอกดูเลย.. ปรากฎว่าเวลาปอกดูก็พบว่าเป็นสับปะรดหวานจริงๆ ด้วย วันนั้นก็เลยกินแกงส้มสับปะรดหวานกันทั้งบ้าน.. ก็เลยเข้าใจเลยว่า อาบน้ำร้อนมาก่อน มันเป็นอย่างนี้นี่เอง.. พ่อผ่านประสบการณ์มามาก ก็เลยรู้ว่าสับปะรดลักษณะแบบนี้จะมีรสชาติอย่างไร ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับวิทยาศาสตร์ก็หมายถึงการทำซ้ำหลายๆ ครั้งนั่นเอง ดังนั้นผลที่ได้จากการทดลองหลายๆ ครั้ง จึงกลายเป็นความรู้ที่แท้จริงนั่นเอง...

    6/13/2552

    ความรู้ที่แท้จริงเกิดจากการปฏิบัติ ความรู้ที่ดีที่สุดเกิดจากประสบการณ์


    สำหรับประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ แค่ 6 ปี ไม่เคยเขียนบทความหรือวิจารณ์เรื่องใด ๆ หากนี้คือจุดเริ่มต้น ก็ขอให้ท่านได้รับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้บ้าง เกี่ยวกับความรู้ที่แท้จริงเกิดจากการปฏิบัติ ความรู้ที่ดีที่สุดเกิดจากประสบการณ์ ดังต่อไปนี้
    ารเรียนรู้ มีความหมายลึกซึ้งมากกว่าการสั่งสอน หรือการบอกเล่าให้เข้าใจและจำได้เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของการทำตามแบบ ไม่ได้มีความหมายต่อการเรียนในวิชาต่างๆเท่านั้น แต่ความหมายคลุมไปถึง การเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมอันเป็นผลจากการสังเกตพิจารณา ไตร่ตรอง แก้ปัญหาทั้งปวงและไม่ชี้ชัดว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปในทางที่สังคมยอมรับเท่านั้น การเรียนรู้เป็นการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้เป็นความเจริญงอกงาม เน้นว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เป็นการเรียนรู้ต้องเนื่องมาจากประสบการณ์ หรือการฝึกหัด และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นควรจะต้องมีความคงทนถาวรเหมาะแก่เหตุเมื่อพฤติกรรมดั้งเดิมเปลี่ยนไปสู่พฤติกรรมที่มุ่งหวัง ก็แสดงว่าเกิดการเรียนรู้แล้ว
    การเรียนรู้โดยการปฏิบัติ(Action Leaning)โดยการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ศึกษาหรือทำกิจกรรม 4 กิจกรรมไปพร้อม ๆ กัน โดยกิจกรรมแต่ละกิจกรรมจะเสริมกันคือ การเรียนรู้จากประสบการณ์ การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การแสวงหาความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหานั้น และการสนับสนุนโดยกลุ่มเพื่อให้เพื่อแก้ปัญหานั้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
    กระบวนการค้นหาความรู้จากประสบการณ์ (Knowledge Capture from Experience
    :KCE)
    คือ กระบวนการผลิตภูมิปัญญาจากเหตุการณ์ที่ประสบ คิดและสรุปหลักการมี 3 ขั้นตอนดังนี้
    E : Event Driven (ไปเจอเหตุการณ์อะไร เจอด้วยตนเอง นำมาคิด เรียนรู้จากการพบเห็น)
    P : Process of Thinking (คิดได้อย่างไรในการแปลงเหตุการณ์ เป็นจุดคิด นำตรรกยะมาคิด ลองผิดลองถูก สะท้อนความรู้สึก แลกเปลี่ยนความรู้)
    C : Conclusion of Results (จุดเรียนรู้โดยสรุป เกิดเป็นบทเรียนต่าง ๆ )
    สุดท้ายก็จะเป็นปราชญ์เดินดิน
    - เรียน
    - รู้
    - รู้อะไร
    - รู้จากอะไร (ฟัง คิด ทำ)
    - ประเภทสิ่งรู้ (รู้ไว้ใช่ว่า-จำเป็นต้องรู้-ต้องรู้)
    - รู้สึกดีใจที่รู้
    - ได้เอาไปใช้ประโยชน์
    - อะไร (ประหยัด)
    - งาน (งานมีประสิทธิผล)
    - ตนเอง (เก่งขึ้น)
    - องค์กร (เป็นองค์กรเรียนรู้ เก่งดีมีสุข พนักงานรู้ องค์กรมีความรู้)
    - ได้อะไร
    - เพื่อน ได้อยู่ร่วมกัน
    - ความสุข
    - มากน้อย ทำได้เองหรือเปล่า
    - ต่อสู้กับความกลัว
    - คุณค่าตัวเอง ต่อยอดความคิด
    - คิดในเชิงระบบ
    ซึ่งความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ผ่านกระบวนการ EPC นั้น เป็นความสุขที่ได้เรียนรู้ เป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติส่วนหนึ่ง ซึ่งหากปฏิบัติเอง ความรู้ที่เกิดขึ้นไม่ลืมเลือน ยังจำได้ เป็นประสบการณ์อย่างหนึ่งที่ได้ปฏิบัติ ได้พบ ได้เจอ ได้รู้ ได้คิด ต่อยอดความคิด คิดในเชิงระบบ จนพบความสุข ถือว่าเป็นความรู้ที่ดีที่สุด ยากที่จะลืมเลือน ทั้งนี้เกิดจากการปฏิบัติ กลายเป็นความรู้ที่แท้จริง และเป็นความสุขที่ได้มีประสบการณ์นั้นนั่นเอง ยกตัวอย่างนักเรียนที่ได้ทำจรวดขวดน้ำสักลำ ทำด้วยมือตนเอง ทำแล้วเกิดการเรียนรู้ และมีความสุขที่ได้เล่น ได้แข่งขัน เป็นประสบการณ์ใหม่ ที่อยากเล่าความรู้สึกที่ได้ยิงจรวดขวดน้ำครั้งแรก ละอองน้ำกระเด็นเข้าหน้า เย็นฉ่ำ หากไม่ทำเอง เล่นเอง เกิดประสบการณ์แล้วละก้อ ความรู้ดี ๆ เหล่านี้คงไม่เกิดเป็นแน่

    อ้างอิง
    http://www.budmgt.com/topics/top01/knowledge-capture-exp.html#Font_:_Tahoma
    http://socialscience.igetweb.com/index.php?mo=3&art=15154
    http://www.rayong.go.th/Strategy/KM_6/data/005/W/KManage.doc